xs
xsm
sm
md
lg

รายงานชี้อุตสาหกรรมผลิตอาวุธพม่าขยายตัวสูง หลังกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - ผู้เชี่ยวชาญอิสระระหว่างประเทศระบุว่า มีบริษัทอย่างน้อยจาก 13 ประเทศ ช่วยพม่าเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตอาวุธที่ถูกนำไปใช้ก่อเหตุทารุณโหดร้ายหลังทหารยึดอำนาจในปี 2564

รายงานที่เผยแพร่ในวันจันทร์ (16) โดยสภาที่ปรึกษาพิเศษว่าด้วยพม่า ระบุว่า ประเทศได้เพิ่มการผลิตอาวุธ นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ที่จุดชนวนให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านจากประชาชนจำนวนมาก

การยึดอำนาจของกองทัพจากผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งฉุดรั้งความคืบหน้าสู่ประชาธิปไตยของประเทศที่ดำเนินมาได้เกือบทศวรรษ หลังประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของทหารมา 50 ปี หลังกองกำลังความมั่นคงใช้กำลังรุนแรงถึงชีวิตต่อผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสันติ ฝ่ายต่อต้านการปกครองของทหารก็หันไปจับอาวุธ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติบางคนระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสงครามกลางเมือง

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่ามีพลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 2,700 คนในเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งรวมถึงเด็ก 277 คน ขณะที่ประชาชนมากกว่า 13,000 คน ถูกควบคุมตัว ทั้งนี้ เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงมากกว่านี้

บริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลางกำลังสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานทางทหาร รายงานระบุ และเรียกร้องให้ธุรกิจเหล่านั้นตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่ได้เอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน

การเติบโตของอุตสาหกรรมอาวุธในพม่าเกิดขึ้นเมื่อบางประเทศบังคับใช้มาตรการห้ามค้าอาวุธ หรือคว่ำบาตรกับบุคคลและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการค้าหรือผลิตอาวุธ

ในเดือน ต.ค. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับอ่อง โม มี้น นักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพ ที่กระทรวงการคลังระบุว่าอำนวยความสะดวกในการเจรจาซื้อขายอาวุธในนามของตน หล่าย โม มี้น น้องชายของเขา และบริษัทการค้าที่พวกเขาก่อตั้ง Dynasty International Company Ltd. ก็ตกเป็นเป้าหมายของการคว่ำบาตร ส่วน เมียว ทิตซา หนึ่งในผู้อำนวยการของบริษัทก็ถูกคว่ำบาตรด้วยเช่นกัน

ในเดือน พ.ย. สหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับซัปพลายเออร์เครื่องบินของกองทัพพม่า โดยอ้างถึงการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือน

พม่าไม่มีผู้ผลิตอาวุธเอกชน ดังนั้นบริษัทดังกล่าวจึงดำเนินการโดยกระทรวงกลาโหมและกรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รายงานระบุ

ส่วนโรงงานในท้องถิ่นยังสามารถใช้เทคโนโลยีที่ได้รับอนุญาตและห่วงโซ่อุปทานต่างประเทศ การสนับสนุนทางเทคนิคและการสนับสนุนอื่นๆ บางครั้งมีการส่งอุปกรณ์ไปยังสิงคโปร์ และไต้หวันเพื่ออัปเกรดและบำรุงรักษา

ในคำแถลง คริส ซิโดติ ผู้เชี่ยวชาญจากสภาที่ปรึกษาพิเศษว่าด้วยพม่า เรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ดำเนินการสอบสวนและดำเนินการกับบริษัทต่างๆ ที่ทำให้กองทัพพม่าสามารถผลิตอาวุธที่ใช้ในการโจมตีพลเรือนตามอำเภอใจ

“บริษัทต่างชาติที่ได้ประโยชน์จากความทุกข์ทรมานของชาวพม่าต้องรับผิดชอบ” ซิโดติ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและสมาชิกของคณะสอบสวนข้อเท็จจริงอิสระกรณีพม่าระหว่างปี 2560-2562 กล่าว

รายงานเมื่อปีแล้วของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังระบุชื่อบริษัทในรัสเซีย จีน ยูเครน อิสราเอล สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ถึงความเชื่อมโยงนี้

ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมการผลิตอาวุธในพม่าขยายตัวคือความเสี่ยงที่การนำเข้าอาวุธ เครื่องบินทหาร และอาวุธอื่นๆ จะถูกปิดกั้นจากการคว่ำบาตร โดยขณะนี้กองทัพพึ่งพาตนเองในการผลิตอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา รายงานระบุ

ความสามารถในการผลิตอาวุธของพม่า ประกอบด้วยรายการอาวุธหลากหลาย ตั้งแต่ปืนไรเฟิลจู่โจม และปืนกล ไปจนถึงปืนครก อาวุธต่อต้านรถถังและต่อต้านอากาศยาน ขีปนาวุธและเครื่องยิงขีปนาวุธและปืนใหญ่ และระบบป้องกันภัยทางอากาศ รายงานระบุ

ทุ่นระเบิดและทุ่นระเบิดใต้น้ำก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในพม่า รายงานกล่าว โดยอ้างถึงผู้ที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมอาวุธและรวมถึงภาพถ่ายอาวุธที่จัดแสดงในงานแสดงอาวุธป้องกันประเทศในกรุงเทพฯ ที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

รายงานระบุว่า โรงงานผลิตอาวุธ KaPaSa ที่เป็นตัวย่อของชื่อท้องถิ่นของกรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นำเข้าส่วนประกอบต่างๆ เช่น ฟิวส์ ศูนย์เล็งปืน และแก๊ปหัวชนวนระเบิด จากอินเดียและจีน โรงงานยังมีเครื่องจักร CNC สำหรับกัด ตัด เจาะ หรือขึ้นรูปชิ้นงานในแบบต่างๆ ที่ผลิตในออสเตรีย เยอรมนี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐฯ

แม้จำนวนที่แน่นอนของโรงงานดังกล่าวยังไม่ชัดเจน แต่จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลอื่นๆ ระบุว่ามีโรงงานลักษณะนี้อยู่หลายสิบแห่ง.




กำลังโหลดความคิดเห็น