xs
xsm
sm
md
lg

"รถไฟลาว-เวียดนาม" เดินหน้าก่อสร้างช่วง “ท่าแขก-หวุงอ๋าง” 240 กม. เริ่ม มี.ค.66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทางรถไฟลาว-เวียดนาม ที่จะเริ่มสร้างช่วงแรกจากเมืองท่าแขก ไปท่าเรือหวุงอ๋าง เดือนมีนาคม 2566
MGR online - เดินหน้าแน่นอนแล้ว โครงการ “รถไฟลาว-เวียดนาม” มูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ เดือนมีนาคม 2566 เริ่มสร้างช่วงแรกจากท่าแขก ไปท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ระยะทาง 240 กิโลเมตรก่อน คาดแล้วเสร็จปี 2569

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ รายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ Ina Marciulionyte เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส เอกอัครราชทูตเยอรมนี และอุปทูตลักเซมเบิร์ก ประจำ สปป.ลาว ได้รับฟังการบรรยายสรุปโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว-เวียดนาม ขณะนำคณะเข้าเยี่ยมชมศูนย์ขนถ่ายสินค้าและท่าบก ของบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค ที่ท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์

แนวเส้นทางทั้งหมดของโครงการรถไฟลาว-เวียดนาม
จันทอน สิดทิไซ ประธานบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว (มหาชน) ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาวให้พัฒนาเส้นทางรถไฟลาว-เวียดนาม บรรยายว่า เดือนมีนาคม 2566 ที่จะถึงนี้ จะเริ่มการก่อสร้างช่วงแรก ระยะทาง 240 กิโลเมตร จากเมืองท่าแขก เมืองเอกของแขวงคำม่วน ไปท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ชายทะเลจังหวัดฮาติงห์ ภาคกลางค่อนขึ้นไปทางเหนือของเวียดนาม โดยจะสร้างในส่วนที่อยู่ในลาวก่อน จากนั้นประมาณสิ้นปี 2566 จึงจะสร้างส่วนที่อยู่ในเวียดนาม

จันทอน กล่าวว่า ถ้าทุกอย่างเดินหน้าไปตามแผน คาดว่าทางรถไฟช่วงแรกระยะทาง 240 กิโลเมตร จะสร้างเสร็จในปี 2569

จันทอน สิดทิไซ ประธานบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว (มหาชน)
ทางรถไฟลาว-เวียดนาม ยาวรวม 555 กิโลเมตร เป็นเส้นทางในลาว 452 กิโลเมตร ในเวียดนาม 103 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจุดเริ่มต้นจากโครงการเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค นครหลวงเวียงจันทน์ คู่ขนานไปตามแนวถนนสาย 13 (ใต้) ผ่านแขวงบ่ลิคำไซ เลี้ยวซ้ายไปทางตะวันออกที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน เข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนาเพ้า-จาลอ จังหวัดกว๋างบิ่ญ โดยมีปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง จังหวัดฮาติงห์

ทางรถไฟสายนี้เป็น 1 ใน 3 โครงการตามแผนยุทธศาสตร์ Laos Logistics Link (LLL) ซึ่งทั้งรัฐบาลลาว และรัฐบาลเวียดนามได้ให้ไฟเขียวแก่บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการทั้ง 3 โครงการ โดยนอกจากทางรถไฟลาว-เวียดนามแล้ว ยังมีโครงการเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค ที่สร้างเสร็จและเปิดดำเนินการแล้ว และการเข้าเป็นผู้บริหารท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างในประเทศเวียดนาม ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ

คณะทูตจากสหภาพยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก ที่เดินทางไปดูงานโครงการเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค และรับฟังบรรยายความคืบหน้าโครงการรถไฟลาว-เวียดนาม
ปัจจุบัน จันทอน สิดทิไซ นอกจากเป็นประธานบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว (มหาชน) แล้ว ยังเป็นประธานบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค และมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม รวมถึงมีตำแหน่งทางสังคม เป็นรองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว และยังเป็น 1 ใน 7 ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีลาวอีกด้วย

บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว เป็นบริษัทในเครือพงสะหวัน กลุ่มธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของลาวที่มีกิจการหลากหลาย ทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต สายการบิน บริษัทรับเหมาก่อสร้าง โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจค้าไม้ มี ดร.ออด พงสะหวัน เป็นผู้ก่อตั้ง.




กำลังโหลดความคิดเห็น