xs
xsm
sm
md
lg

ภาพถ่ายดาวเทียมชี้เวียดนามถมทะเลขยายพื้นที่ครั้งใหญ่ หนุนอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - องค์กรคลังสมองของสหรัฐฯ ระบุว่า เวียดนามได้ดำเนินการขยายงานขุดลอกและถมที่ครั้งใหญ่ยังฐานที่มั่นหลายแห่งในทะเลจีนใต้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ที่นับเป็นการส่งสัญญาณถึงความตั้งใจที่จะยืนยันการอ้างกรรมสิทธิ์ของประเทศในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทแห่งนี้

ศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ (CSIS) ระบุว่า งานในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่จีนและประเทศอื่นๆ อ้างกรรมสิทธิ์เช่นกันนั้น ได้สร้างพื้นที่ขึ้นใหม่ราว 420 เอเคอร์ และทำให้พื้นที่โดยรวมทั้งหมดที่เวียดนามถมทะเลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมารวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 540 เอเคอร์

จากการค้นพบในภาพถ่ายดาวเทียมเชิงพาณิชย์ โครงการริเริ่มเพื่อความโปร่งใสทางทะเลเอเชีย (AMIT) ของ CSIS ระบุว่า ความพยายามดังกล่าวประกอบด้วยงานถมทะเล 4 แห่ง และงานขุดลอกทรายใหม่อีก 5 แห่ง

“ขนาดของงานถมทะเลของเวียดนามที่แม้ว่าจะยังห่างไกลจากจีนที่ถมทะเลให้เป็นพื้นดินมากกว่า 3,200 เอเคอร์ ในระหว่างปี 2556-2559 แต่ก็นับว่ามากกว่าความพยายามในครั้งก่อน และยังแสดงถึงความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่มุ่งสนับสนุนตำแหน่งของประเทศในหมู่เกาะสแปรตลีย์” รายงานระบุ

สถานทูตของเวียดนามในวอชิงตันไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นของรอยเตอร์ต่อรายงานดังกล่าว

AMTI ระบุว่า ฐานทหารขนาดกลางของเวียดนามที่เกาะนามยิต (Namyit) เกาะปะการังเพียร์สันรีฟ (Pearson Reef) และเกาะปะการังแซนด์เคย์ (Sand Cay) กำลังอยู่ระหว่างการขยายครั้งใหญ่

เกาะนามยิต มีขนาด 117 เอเคอร์ และเกาะปะการังเพียร์สันรีฟ 119 เอเคอร์ ทั้ง 2 เกาะตอนนี้มีขนาดใหญ่กว่าเกาะสแปรตลีย์ ที่มีขนาด 97 เอเคอร์ ที่เคยเป็นฐานใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ส่วนเกาะปะการังเทนเนท์รีฟ Tennent Reef) ที่ก่อนหน้ามีเพียงโครงสร้างเสาขนาดเล็ก 2 ต้น เวลานี้ มีพื้นที่ถมใหม่ 64 เอเคอร์ รายงานระบุ

AMTI ระบุว่าเวียดนามใช้เรือขุดแบบหัวงับดินตักส่วนปะการังน้ำตื้นและกองตะกอนถมทะเล กระบวนการที่สร้างความเสียหายน้อยกว่าการขุดดูดลอกดินที่จีนใช้สร้างเกาะเทียม

“อย่างไรก็ตาม กิจกรรมขุดลอกและถมทะเลของเวียดนามในปี 2565 มีความสำคัญ และเป็นสัญญาณถึงความตั้งใจที่จะสนับสนุนการครอบครองพื้นที่ในหมู่เกาะสแปรตลีย์” รายงานระบุ

จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ และตั้งฐานทหารบนเกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้น ขณะเดียวกัน ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ ต่างอ้างสิทธิทับซ้อนในทะเลดังกล่าว ที่เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญและยังเป็นแหล่งก๊าซและแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์.


กำลังโหลดความคิดเห็น