xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านนับหมื่นในเขตนครวัดเสี่ยงถูกไล่ที่ หลัง จนท.แจ้งให้ย้ายออกก่อนปีใหม่ อ้างเพื่อรักษาสถานะแหล่งมรดกโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGRออนไลน์ - นครวัด แหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโกและศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรม เมื่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในและรอบๆ นครวัด ราว 10,000 คน ได้รับแจ้งว่าพวกเขาต้องย้ายออกจากพื้นที่ก่อนปีใหม่

แม้ว่านายกรัฐมนตรีฮุนเซนจะอธิบายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น ‘การย้ายถิ่นฐานโดยสมัครใจ’ แต่ประชาชนที่ถูกขอให้ออกจากบ้านและธุรกิจของพวกเขาโดยได้รับค่าชดเชยเพียงเล็กน้อย มองว่าสิ่งนี้เป็นการบังคับไล่ที่

เขตปราสาทนครวัดครอบคลุมพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตร และถูกกำหนดให้เป็นแหล่งมรดกโลกในปี 1992 และยังถือเป็นหนึ่งในศาสนสถานสำคัญที่สุดในโลกเช่นเดียวกับนครรัฐวาติกัน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งรายได้หลักของเมืองเสียมราฐ และเป็นบ้านของผู้คนราว 10,000 คน ที่ตั้งร้านค้า ให้บริการนำเที่ยว ขายอาหารและของที่ระลึกต่างๆ อยู่รอบปราสาท

แต่ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เริ่มปรากฏตัวตามแผงขายของในตลาดโดยบอกทุกคนว่าพวกเขาต้องย้ายออกจากพื้นที่อย่างช้าที่สุดภายในสิ้นปีนี้ โดยบางคนได้รับข้อเสนอที่ดินแปลงเล็กๆ เป็นค่าชดเชย ซึ่งที่ดินดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ห่างจากนครวัดราว 20 กิโลเมตร ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อโอกาสในการทำงานมากนักสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ย้ายถิ่นฐาน

ชาวบ้านที่พลัดถิ่นยังได้รับเงิน 250 ดอลลาร์ และแผ่นเมทัลชีทจำนวนหนึ่งสำหรับมุงหลังคาเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ และข้าวสารอีก 50 กิโลกรัม ขณะที่พวกเขาหาหนทางเลี้ยงชีพในสถานที่ใหม่

ชาวบ้านได้รับที่ดินขนาด 600 ตารางเมตรในหมู่บ้านแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากนครวัดราว 40 นาทีหากเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ พื้นที่ดังกล่าวเพิ่งได้รับการปรับปรุง โดยไม่มีโรงเรียน โรงพยาบาล หรือสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับคนที่ถูกบังคับให้ย้ายไปอยู่ที่นั่น

ยิ่งไปกว่านั้น คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแห่งนี้อยู่แล้วกำลังถูกผลักดันและถูกคุกคามจากการยึดที่ดิน เพื่อเปิดทางให้ผู้พลัดถิ่นจากนครวัด ซึ่งพื้นที่แห่งนี้มักถูกใช้เป็นสถานที่รับผู้พลัดถิ่นจากส่วนอื่นๆ ของเสียมราฐ

เจ้าหน้าที่กัมพูชากล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้แจ้งเตือนประชาชนไปแล้ว 2 ครั้ง เกี่ยวกับการพัฒนามากเกินไปในบริเวณนครวัด คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาที่ไม่มีการควบคุมในพื้นที่ในรายงานปี 2008 แต่สถานะของพื้นที่ไม่ได้ถูกพิจารณาว่าเป็นอันตรายมาตั้งแต่ปี 2004 และในปี 2014 คณะกรรมการมรดกโลกกล่าวว่า กัมพูชามีความก้าวหน้าอย่างมากในการจัดการกับโครงสร้างผิดกฎหมายที่อยู่ในและรอบนครวัด

นายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวก่อนหน้านี้ว่าผู้ที่รุกล้ำทั้งหมดต้องย้ายออก หากพวกเขาไม่ปฏิบัติตามโดยสมัครใจ พวกเขาจะถูกขับออกโดยไม่ได้รับการชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น และยังระบุว่า การย้ายครั้งนี้มีความจำเป็นเพื่อให้นครวัดคงสถานะการเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก

“นครวัดอาจถูกถอดจากสถานะแหล่งมรดกโลกเพราะผิดข้อกำหนดและเงื่อนไขของคณะกรรมการมรดกโลก เราไม่สามารถละเมิดหลักการของยูเนสโกได้” นายกฯ ฮุนเซน กล่าว

ทั้งนี้ ยูเนสโกได้ตอบสนองต่อข้อโต้แย้งเรื่องการย้ายผู้คนที่อาศัยอยู่รอบนครวัดนับ 10,000 คน โดยโฆษกของหน่วยงานของสหประชาชาติดูเหมือนจะต่อต้านการย้ายผู้คนออกจากบ้านของพวกเขา และว่ากัมพูชาได้ให้คำมั่นที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน การดำรงชีวิต และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่น

“ยูเนสโก หรือคณะกรรมการมรดกโลกไม่เคยเรียกร้องการย้ายประชากรในนครวัด” โฆษกยูเนสโก กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น