xs
xsm
sm
md
lg

ศาลพม่าตัดสินประหารนักศึกษา 7 ราย UN ซัดรัฐบาลทหารใช้โทษประหารเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สหประชาชาติระบุว่า รัฐบาลทหารพม่าได้ตัดสินโทษประหารชีวิตเพิ่มอีกอย่างน้อย 7 คนในสัปดาห์นี้ ทำให้ยอดผู้ที่ได้รับโทษประหารเพิ่มเป็น 139 คน

โฆษกรัฐบาลทหารไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องจากนอกประเทศที่พยายามขอคำยืนยันถึงการใช้โทษประหารชีวิตครั้งล่าสุด ที่สหประชาชาติกล่าวหาว่ารัฐบาลทหารพม่ากำลังใช้โทษประหารเป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม

พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจีถูกโค่นล้มจากการรัฐประหารในเดือน ก.พ.2564 ที่ยุติช่วงเวลาสั้นๆ ของประเทศในระบอบประชาธิปไตย

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุในคำแถลงว่า มีนักศึกษาชายอย่างน้อย 7 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยศาลทหาร

“จากการใช้โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม กองทัพได้ยืนยันว่าพวกเขาดูหมิ่นความพยายามของอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศที่จะยุติความรุนแรงและสร้างเงื่อนไขสำหรับการเจรจาทางการเมืองเพื่อนำพม่าออกจากวิกฤตสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากกองทัพเอง” ข้าหลวงสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุ

รายงานของสื่อท้องถิ่นระบุว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยในย่างกุ้งถูกจับกุมตัวในเดือน เม.ย. และถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุยิงธนาคาร

“การตัดสินโทษประหารชีวิตต่อนักศึกษาเป็นการแก้แค้นของกองทัพ” สหภาพนักศึกษาของมหาวิทยาลัยดากอง ระบุในคำแถลง

นอกจากนี้ สหประชาชาติกำลังสืบสวนรายงานที่ระบุว่า มีนักเคลื่อนไหวเยาวชนอีก 4 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตในวันพฤหัสฯ

“กองทัพยังคงดำเนินคดีในศาลลับที่ละเมิดหลักการพื้นฐานของการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และขัดต่อการรับประกันความเป็นอิสระและความเป็นกลางของกระบวนการยุติธรรม” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุ ซึ่งเขายังกล่าวว่า การพิจารณาของศาลที่เป็นความลับบางครั้งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีและผู้ที่ถูกคุมขังมักไม่สามารถเข้าถึงทนายความหรือครอบครัวของพวกเขา

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในพม่าจำนวนมากที่ใช้งานเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ได้ประท้วงโทษประหารชีวิตด้วยการติดแฮชแท็ก เช่น StopExecuteOurStudents

การตัดสินโทษประหารชีวิตล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังการประหารชีวิตนักโทษ 4 คน เมื่อเดือน ก.ค. ที่ประกอบด้วย เพียว เซยา ตอ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ และจ่อ มิน ยู นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ที่นับเป็นการใช้โทษประหารชีวิตครั้งแรกของพม่าในรอบ 30 ปี ที่ก่อให้เกิดการประณามไปทั่วโลก

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นผู้นำในความพยายามที่จะฟื้นฟูสันติภาพให้พม่า แต่จนถึงขณะนี้ยังไร้ผล ได้เตือนรัฐบาลทหารในเดือน ส.ค. ไม่ให้ดำเนินการประหารชีวิตเพิ่มอีก.
กำลังโหลดความคิดเห็น