เอเอฟพี - แม้พลังงานแสงอาทิตย์จะเติบโตอย่างรวดเร็วและตั้งเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศไว้สูง แต่เวียดนาม ประเทศที่มีเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วแห่งนี้กำลังดิ้นรนอย่างหนักในการเลิกใช้พลังงานสกปรก และยังปล่อยให้หนึ่งในโครงการพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของโลกยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 เมื่อปีก่อน รัฐบาลเวียดนามได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ และยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ดำเนินการไปแล้ว แม้ว่าความต้องการพลังงานในภาคการผลิตจะพุ่งสูงก็ตาม
“แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เวียดนามกำลังทำจริงๆ ในระดับชาติ” นันดินี ดาส นักวิเคราะห์นโยบายและวิจัยด้านพลังงานของ Climate Analytics กล่าวกับเอเอฟพี
เวียดนามให้คำมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2593 แต่ถ่านหินและก๊าซกลับยังคงเป็นส่วนสำคัญในแผนพลังงานแบบผสมผสานของประเทศในปีต่อมา ดาส กล่าว
ประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้ยังจำคุกนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม 4 คน รวมถึง งวี ถิ แค็ง นักรณรงค์ต่อต้านถ่านหิน ที่สร้างความตื่นตระหนกให้นักสิ่งแวดล้อมที่ได้โต้แย้งว่ายิ่งเป็นเรื่องยากมากขึ้นสำหรับเวียดนามที่จะกำจัดพลังงานสกปรกหากไม่มีพวกเขา
“จากที่แกนนำด้านสภาพอากาศอยู่ในเรือนจำ ทำให้มีข้อสงสัยถึงความสามารถของประเทศที่จะบรรลุเป้าหมาย” ไมเคิล ซัตตัน ผู้อำนวยการมูลนิธิสิ่งแวดล้อมโกลด์แมน กล่าว และเสริมว่า แกนนำเช่นแค็งเป็นเครื่องมือในการสร้างการสนับสนุนของประชาชนสำหรับการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม
เวียดนามมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย
แต่ที่การประชุม COP27 ในสัปดาห์นี้ กลุ่มประเทศ G7 อาจจะประกาศการระดมทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อช่วยให้เวียดนามออกห่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และประเทศจะสามารถดึงดูดการลงทุนด้านพลังงานสะอาดได้เพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านดอลลาร์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นหุ้นส่วนในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม
สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ก็เติบโตขึ้นเช่นกัน สัดส่วนของไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์นับว่าเติบโตมากที่สุดในโลกในปี 2564 โดยพุ่งขึ้น 10% จาก 2% ในปีก่อนหน้า ตามการรายงานขององค์กรเอมเบอร์ (Ember) คลังสมองในประเด็นพลังงาน
และเมื่อปีที่ผ่านมา เวียดนามติด 10 อันดับแรกของโลกด้านกำลังการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์
ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง ดว่าน วัน เตียน เกษตรกรที่อยู่ในชุมชนยากจน ห่างไกล และเข้าถึงโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศได้น้อย เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตนี้
ตลอดชีวิตของเขาอาศัยเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันที่มีราคาแพง จนกระทั่งการมาถึงของแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ 14 ก้อน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Green ID กลุ่มสิ่งแวดล้อมไม่แสงหาผลกำไรที่ก่อตั้งโดยนักเคลื่อนไหว งวี ถิ แค็ง
“มันเปลี่ยนชีวิตผมมากๆ” ดว่าน วัน เตียน กล่าวกับเอเอฟพี โดยชี้ไปที่สวนอะโวคาโด้และส้มแมนดารินของเขา
“เมื่อก่อนเราต้องการปลูกผลไม้พวกนี้ แต่เราไม่มีไฟจ่ายให้เครื่องสูบน้ำ” เตียน กล่าว และว่าตอนนี้เขารดน้ำต้นไม้โดยไม่ต้องเสียค่าไฟ
ผู้คนต่างหันมาหาพลังงานแสงอาทิตย์เนื่องจากมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้า แต่ความสำเร็จนี้ก็พบกับอุปสรรค ด้วยข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่หมายความว่าสายส่งไม่สามารถรับมือกับอุปทานที่เพิ่มขึ้นได้ ส่งผลให้มีการจำกัดว่าผู้ประกอบการสามารถป้อนพลังงานเข้าระบบได้มากน้อยเพียงใด
ด้านนักวิจัยจากสำนักศึกษาด้านนโยบายสาธารณะครอว์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า เป้าหมายด้านสภาพอากาศล่าสุดของกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเวียดนามที่ออกในเดือน ก.ค.นั้น มีความชัดเจนและทะเยอทะยานมากกว่าเป้าหมายเดิม
ยุทธศาสตร์ใหม่ของกระทรวงได้เพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 เป็น 43.5% จากเป้าหมายปีก่อนที่ 9% และการปล่อยมลพิษคาดว่าจะแตะระดับสูงสุดในปี 2578 ก่อนที่จะลดลงเป็นศูนย์ในปี 2593
แต่นักวิจัยจาก Climate Analytics โต้แย้งว่า ปัญหาคือนโยบายใหม่ยังไม่ได้ดำเนินการ
“เราจะรอดู 6 เดือน” นันดินี ดาส กล่าว
การจับกุมนักรณรงค์ด้านสภาพอากาศทำให้ความมุ่งมั่นตั้งใจในด้านพลังงานของเวียดนามยากต่อการทำความเข้าใจ
แค็งทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลเพื่อหาวิธีลดการใช้ถ่านหิน ขณะที่ ซาง ดิ่ง บั๊ก เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอ ทำหน้าที่แจ้งผู้อยู่อาศัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของโครงการโรงไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้น
“เขาให้คำแนะนำกับผู้อยู่อาศัยเพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าใจสิทธิของเขาและสามารถใช้สิทธิเหล่านั้นได้” ภรรยาของบั๊กกล่าวกับเอเอฟพี
ในปี 2560 บั๊ก และองค์กร Law & Policy of Sustainable Development ได้ผลักดันให้รัฐบาลทบทวนโครงการโรงไฟฟ้าใน จ.บิ่งทวน ที่ได้รับอนุญาตให้จมตะกอนถ่านหินล้านลูกบาศก์เมตรลงในทะเล
แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือน มิ.ย.2564 บั๊กถูกจับกุมตัว และถูกตัดสินจำคุก 5 ปีในปีนี้
แม้ว่าเวียดนามจะไม่มีเวลาให้เสียเปล่ามากนักเนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากแนวชายฝั่งทะเลที่ทอดยาวและมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น แต่นักวิจัยเชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากอดทน
“เศรษฐกิจทั้งหมดตอนนี้พึ่งพาถ่านหิน ทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในวันรุ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก และยังต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติอีกด้วย” นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าว.