MGR Online - เป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์หนาหูทั่วลาวตลอดเช้าวันนี้ เมื่อมีขบวนแห่นางอัปสรรอบพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ เหตุให้ผู้หญิงนั่งบนเสลี่ยงระดับที่สูงกว่าพระสงฆ์ซึ่งทำพิธีอยู่ด้านล่าง ผู้จัดขอขมา ชี้ตั้งใจสืบสานประเพณีโดยบริสุทธิ์ใจ คิดรูปแบบโดยอิงข้อมูลประวัติศาสตร์ แต่ไม่รู้ว่ากำลังมีพิธีสงฆ์ ภาพที่ออกมาจึงไม่เหมาะสม
เช้าวันนี้ (7 พ.ย.) เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางบนสื่อออนไลน์แทบทุกแห่งในลาว ถึงกรณีที่มีขบวนแห่โดยใช้ผู้ชาย 8 คน แบกเสลี่ยงที่มีผู้หญิงนั่งอยู่ด้านบน ทั้งหมดแต่งกายแบบโบราณ เดินเข้าไปภายในพื้นที่รอบองค์พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ ในงานบุญนมัสการพระธาตุหลวงประจำปี 2565 เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.) จากนั้นขบวนนี้ได้แห่ไปรอบองค์พระธาตุหลวง 3 รอบ
ผู้ที่เห็นภาพขบวนแห่นี้ต่างวิจารณ์เป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นประเพณีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ 461 ปี ของการจัดงานนมัสการพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ หลายคนแสดงความเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการที่ให้ผู้หญิงนั่งอยู่ด้านบนของเสลี่ยง ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าพระสงฆ์ที่กำลังนั่งทำพิธีทางศาสนาอยู่ด้านล่าง ทุกคนต่างตั้งคำถามว่าขบวนแห่นี้เป็นของใคร และมีเหตุผลใดจึงคิดทำขบวนแห่ในลักษณะนี้
ต่อมา ในเวลาประมาณ 9.30 น.ของวันนี้ ได้มีการชี้แจงกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Korviset Phaxaisombath ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมนี้ มีรายละเอียดว่า
ขออนุญาตชี้แจง และขอขมาลาโทษจากกิจกรรมแห่ปราสาทผึ้งของเมื่อวานนี้ ซึ่งพวกข้าน้อยไม่มีเจตนาจะลบหลู่ดูหมิ่นสถานที่แต่อย่างใด ทำขึ้นเพื่อหวังอยากช่วยส่งเสริมงานศิลปะ แต่ถือว่าอาจเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมในสายตาของสังคม จึงอยากขอชี้แจงเพิ่มเติมให้กระจ่างแจ้ง
กิจกรรมนี้ คิดขึ้นโดยกลุ่มคนหนุ่มที่รักในศิลปวัฒนธรรมลาว สร้างขึ้นจากการระดมแนวคิด โดยอ้างอิงจากข้อมูลประวัติศาสตร์ และวรรณคดีลาวในอดีต เพราะเห็นว่าวัฒนธรรมบางอย่างได้ทรุดโทรมหายไป
การใช้เสลี่ยงอ้างอิงจากขบวนแห่ในอดีต ส่วนการแต่งกายอ้างอิงจากรูปปั้นของนางอัปสร ซึ่งเป็นร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ในวัดยอดแก้ว (โรงเรียนแพทย์ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่ถูกสร้างขึ้นระหว่างยุคของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช(พ.ศ.2091-2114) ถึงยุคของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ.2181-2238) ปัจจุบันนี้ ร่องรอยเหล่านั้นถูกเก็บรักษาไว้ที่หอพระแก้ว ถือเป็นการรื้อฟื้นงานศิลปะที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น จึงคิดรูปแบบกิจกรรมนี้ขึ้น
สำหรับกิจกรรมเมื่อวานนี้ พวกข้าน้อยพร้อมด้วยทีมงานขอน้อมรับด้วยความจริงใจถึงความผิดพลาดที่ไม่เหมาะสมกับสถานที่และเวลา เพราะในเวลาที่แห่นั้นไม่รู้ว่ามีการจัดพิธีกรรมทางศาสนาอยู่ด้านใน และขณะที่แห่มา เจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้เข้าไปได้ เนื่องจากคิดว่าเป็นขบวนแห่ปกติ แต่หลังจากแห่เข้าไปได้ช่วงหนึ่งเห็นว่ากำลังมีการทำพิธีอยู่ในอีกฟากหนึ่ง จึงให้ผู้หญิงลงจากเสลี่ยงมาเดินบนพื้น จากนั้นก็พากันออกมา
ภาพที่ปรากฏออกมาเป็นเพียงบางส่วนที่มีบางคนได้บันทึกไว้ ซึ่งอาจดูไม่เหมาะสม ก็ขอน้อมรับผิด รับทุกคำตำหนิด้วยความจริงใจ และนำไปแก้ไขสิ่งที่บกพร่อง และเป็นบทเรียนอันใหญ่หลวงสำหรับการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมลาว ข้าน้อยและทีมงาน ขอขมาและขออภัยมา ณ ที่นี้
สำหรับงานบุญนมัสการพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ประจำปี 2565 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2565.