xs
xsm
sm
md
lg

‘เทเลนอร์’ เตรียมหาทางช่วยเหลือผู้ใช้งานพม่า หลังบริษัทถอนตัวเสี่ยงทำข้อมูลลูกค้าอยู่ในมือทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - บริษัทเทเลนอร์ (Telenor) ของนอร์เวย์ กล่าวว่า บริษัทกำลังสำรวจวิธีการที่จะให้การช่วยเหลือผู้ใช้งานโทรคมนาคมพม่าที่เผชิญกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางดิจิทัล หลังบริษัทถอนตัวออกจากประเทศในปีนี้

หลังการรัฐประหารในพม่าเมื่อปี 2564 เทเลนอร์ได้ประกาศขายกิจการของตนในพม่าเพื่อเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปหลังรัฐบาลทหารกดดันให้ใช้งานเทคโนโลยีสอดแนม

เทเลนอร์ดำเนินการถอนตัวออกจากประเทศได้สำเร็จ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพนักงานในพม่า รวมถึงจากนักเคลื่อนไหวที่กล่าวว่า การถอนตัวนั้นอาจทำให้ข้อมูลของผู้ใช้งาน 18 ล้านรายตกอยู่ในมือของทหาร

บริษัทระบุว่า ได้ตกลงกับกลุ่มภาคประชาสังคม 474 กลุ่ม ภายใต้กระบวนการร้องเรียนขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อร่วมกันเลือกนักวิจัยอิสระเพื่อดำเนินการศึกษาความเสี่ยงและสนับสนุนการดำเนินการตามข้อแนะนำของการศึกษา ซึ่งจะรวมถึงการสำรวจ ‘การให้การสนับสนุนพลเมืองพม่าที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับร่องรอยทางดิจิทัล’

ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่ามีความเสี่ยงร้ายแรงต่อผู้ใช้งานในพม่า รวมถึงอดีตพนักงานที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ

เทเลนอร์และศูนย์วิจัยบริษัทข้ามชาติ ที่เป็นตัวแทนขององค์กรภาคประชาสังคมระบุว่า เป้าหมายคือการบรรลุข้อตกลงภายในสิ้นปี 2565

เทเลนอร์ขายธุรกิจในพม่าเป็นมูลค่า 105 ล้านดอลลาร์ให้บริษัท M1 ของเลบานอน และบริษัท Shwe Byain Phyu ที่เป็นบริษัทในท้องถิ่นที่ประธานบริษัทมีประวัติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกองทัพ โดยพวกเขาได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Atom

อดีตพนักงานของเทเลนอร์เมียนมาร์รายหนึ่งกล่าวว่า พนักงานต้องเผชิญความเสี่ยงจากทั้งฝ่ายทหาร และกลุ่มต่อต้านการรัฐประหาร

อดีตพนักงานและอีกบุคคลหนึ่งที่มีความรู้ในเรื่องนี้กล่าวว่า กองทัพมักร้องขอข้อมูลลูกค้ารวมถึงสมาชิกของขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตย

“การขายกิจการทำให้ชีวิตของทุกคนตกอยู่ในความเสี่ยง เราต้องการให้เทเลนอร์รับผิดชอบบ้าง” อดีตพนักงานกล่าว และยังร้องขอความปลอดภัยและการช่วยเหลือพนักงาน รวมถึงข้อเสนอการย้ายถิ่นฐานและค่าชดเชย

บริษัทอะตอมยังไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นในเรื่องนี้ ขณะที่โฆษกของกองทัพพม่าก็ไม่ได้รับสายที่รอยเตอร์ติดต่อเพื่อขอความคิดเห็นเช่นกัน

ส่วนบริษัทเทเลนอร์กล่าวกับรอยเตอร์ว่าบริษัทมีความวิตกกังวลอย่างลึกซึ้งต่อประชาชนชาวพม่าและตั้งใจที่จะรับฟังทุกข้อกังวล ในขณะเดียวกันก็จะดำเนินการไกล่เกลี่ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น