xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉาก 16 ปีศาลอาชญากรรมสงครามเขมรแดง พิพากษาแกนนำเพียง 3 ราย เหยื่อเผยความเจ็บปวดยังชัดเจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - งานของศาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติของกัมพูชาที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินคดีกับแกนนำเขมรแดงจะเสร็จสิ้นลงในสัปดาห์นี้ ยุติกระบวนการที่ดำเนินมานาน 16 ปี ที่ช่วยสร้างสันติภาพและเอกภาพภายในชาติ แต่ปลอบประโลมผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างจำกัด

องค์คณะชำระคดีวิสามัญแห่งตุลาการกัมพูชา (Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia - ECCC) หรือที่รู้จักกันว่าศาลคดีเขมรแดง จะมีคำพิพากษาต่อการอุทธรณ์คำตัดสินโทษในปี 2561 ของเขียว สัมพัน อดีตประมุขแห่งรัฐสมัยเขมรแดง วัย 91 ปี ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

คำพิพากษาดังกล่าวจะเป็นคำตัดสินสุดท้ายของศาล ที่มีมูลค่ามากกว่า 330 ล้านดอลลาร์ และถูกร้องเรียนเกี่ยวข้องความล่าช้าในการทำงาน ตลอดจนข้อกล่าวหาเรื่องการแทรกแซงโดยพรรครัฐบาลของกัมพูชา

สำหรับ ชุม เมย หนึ่งในผู้รอดชีวิตเพียงไม่กี่คนจากเรือนจำ S-21 ไม่มีอะไรลบรอยบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการที่เขมรแดงสังหารภรรยา และลูกทั้ง 4 คนของเขาได้

“ต่อเมื่อผมตายเท่านั้น ผมถึงจะลืมทุกอย่าง” ชุม เมย กล่าวกับเอเอฟพีในเรือนจำ S-21 ที่เคยเป็นโรงเรียน และเวลานี้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บรรยายถึงความโหดร้ายของเขมรแดง

ภายใต้การปกครองของพลพต ชาวเขมรราว 2 ล้านคน เสียชีวิตจากความอดอยาก ทรมาน บังคับใช้แรงงาน และการประหารชีวิต เกือบ 1 ใน 4 ของประชากรของประเทศเสียชีวิตจากการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์สุดโต่ง

เขียว สัมพัน เป็นหนึ่งใน 3 แกนนำระดับสูงของเขมรแดง ที่ถูกศาลพิเศษตัดสินโทษ ส่วนอีก 2 คน คือ นวน เจีย ‘สหายหมายเลข 2’ และกาง กึ๊ก เอียว หัวหน้าเรือนจำ S-21




การเกิดขึ้นของศาลแห่งนี้ไม่ราบรื่นนัก โดยในปี 2540 รัฐบาลกัมพูชาได้ขอความช่วยเหลือจากสหประชาชาติพิพากษาความผิดกับแกนนำเขมรแดง แต่รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธแนวคิดเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินคดีกับอดีตยูโกสลาเวียและรวันดา และยืนกรานให้ศาลดำเนินการโดยผู้พิพากษากัมพูชาและผู้พิพากษาต่างประเทศ

แม้ในที่สุด ข้อตกลงจะสามารถบรรลุได้ในปี 2546 แต่การพิจารณาคดีครั้งแรกที่เป็นคดีของกาง กึ๊ก เอียว เกิดขึ้นในปี 2552

สุดท้ายแล้วมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเขมรแดงเพียง 5 คน ซึ่งทุกคนเป็นผู้สูงอายุ เข้ารับการพิจารณาคดีที่ศาลดังกล่าว ในจำนวนนั้นมี 2 คน เสียชีวิตระหว่างการพิจารณาคดี และอีก 2 คน คือ กาง กึ๊ก เอียว และนวน เจีย เสียชีวิตหลังจากถูกพิพากษาลงโทษ

ส่วน พลพต ผู้นำเขมรแดง เสียชีวิตในปี 2541 ก่อนก่อตั้งศาล ขณะที่บุคคลอีก 3 คน ซึ่งถูกตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จะไม่เผชิญกับการพิจารณาคดีเนื่องจากความเห็นขัดแย้งระหว่างผู้พิพากษากัมพูชาและผู้พิพากษาต่างประเทศ

ชุม เมย ผู้รอดชีวิตจาก S-21 ที่เป็นพยานในปี 2552 กล่าวว่า ศาลให้ความยุติธรรมเพียง 70% แต่งานของศาลยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่า

“สิ่งสำคัญที่สุดคือศาลดำเนินคดีกับแกนนำเขมรแดงทำให้ประชาชนรับรู้ทั่วประเทศถึงการสังหารของพลพต ดังนั้น พวกเขาจะไม่ปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีก” ชายวัย 91 ปี กล่าว

อีกประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงคืองบประมาณจำกัดของศาล ที่ทำให้ศาลสามารถดำเนินคดีกับแกนนำระดับสูงของเขมรแดงได้เพียงเท่านั้น

ด้านสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านที่ลี้ภัยต่างแดนกล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นการปกป้องนายกรัฐมนตรีฮุนเซน อดีตผู้บัญชาการเขมรแดงที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2528

ผู้นำเขมรเคยกล่าวเตือนหลายหนไม่ให้ศาลขยายขอบเขตการพิจารณาคดีออกไป โดยอ้างว่าจะคุกคามเสถียรภาพของประเทศ

เครก เอตเชอสัน ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับกัมพูชารวมถึงศาลพิเศษแห่งนี้ ระบุว่า ศาลมีมรดกที่ผสมผสานกันทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว แต่อย่างไรก็ตาม ศาลได้ช่วยเร่งกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ

“พ่อแม่รู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะพูดคุยกับลูกๆ ของพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง โรงเรียนได้เนื้อหาใหม่เกี่ยวกับช่วงเวลาของพลพตบรรจุลงในหลักสูตรของพวกเขา เพื่อนบ้านเริ่มพูดคุยกับเพื่อนบ้านเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเอง” เอตเชอสัน กล่าว

เกือบ 250,000 คน เข้าร่วมการพิจารณาคดี ที่รวบรวมหลักฐานจากพยาน ภาคประชาสังคม และผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 300 คน

ย้อนกลับไปที่ S-21 ภาพถ่ายขาวดำของผู้ถูกคุมขังที่ถูกสังหารกว่า 18,000 ชีวิต ถูกจัดแสดงอยู่ในโถงนิทรรศการ บู เม็ง ผู้รอดชีวิตอายุ 85 ปี ยังคงมีบาดแผลทั้งร่างกายและจิตใจจากช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่น เขาเรียกร้องให้นำกุญแจมือและโซ่ตรวนล้อมหลุมศพของแกนนำเขมรแดงที่เสียชีวิตไปแล้ว

“ผมจะจดจำทุกสิ่งทุกอย่างไปตลอดชีวิต พวกเขาทุบตีผม ทรมานผม ผมไม่สามารถลืมสิ่งเหล่านี้ไปได้ มันยังชัดเจน” บู เม็ง กล่าว.






กำลังโหลดความคิดเห็น