xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมเปิดใช้ “ท่าเรือซิตต่วย” รัฐยะไข่ เชื่อมเส้นการขนส่งสินค้าพม่า-อินเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพรวมของโครงการขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน (ภาพจากสำนักข่าว Development Media Group)
MGR Online - ท่าเรือซิตต่วยใกล้สร้างเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการขนส่งสินค้าด้วยเรือขนาด 5-6 พันตัน ระหว่างรัฐยะไข่ ของพม่า กับท่าเรือกัลกัตตาในอินเดีย เร็วๆ นี้

วันที่ 27 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่โรงแรม รอยัล ซิตต่วย รีสอร์ท จังหวัดซิตต่วย รัฐยะไข่ Bibekananda Bhattamishra กงสุลใหญ่อินเดีย ประจำรัฐยะไข่ จัดประชุมกลุ่มนักธุรกิจของรัฐยะไข่ ประกอบด้วย ตัวแทนและผู้บริหารของสมาคมผู้ค้าและผู้ประกอบการอาระกัน สมาคมขนส่งสินค้าทางทะเล สมาคมผู้ค้าข้าวอาระกัน นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนนักธุรกิจรุ่นใหม่ เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของรัฐยะไข่อีกหลายคนเข้าร่วมด้วย

กงสุลใหญ่อินเดีย ประจำรัฐยะไข่ ได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงความคืบหน้าของโครงการท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วยว่า ขณะนี้การก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และพร้อมจะเปิดให้บริการแก่เรือขนส่งสินค้า ขนาดบรรทุก 5,000-6,000 ตัน ได้ในเร็วๆ นี้

การประชุมระหว่างกงสุลอินเดีย กับตัวแทนกลุ่มธุรกิจในรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 (ภาพจาก Eleven Media Group)
ท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย มูลค่าการลงทุน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลอินเดีย ถูกสร้างขึ้นบริเวณปากแม่น้ำคาลาดาน ในเมืองซิตต่วย ท่าเรือแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน” (Kaladan Multi-Modal Transit Transportation Project : KMTT) ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่อีกโครงการหนึ่งในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่า นอกเหนือจากท่อก๊าซและน้ำมันพม่า-จีน และโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกกับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เมืองเจ้าก์ผิ่ว ที่เป็นการลงทุนของจีนอีกเช่นกัน

KMMT เป็นความร่วมมือระหว่างพม่ากับอินเดีย ที่ต้องการสร้างโครงข่ายเส้นทางขนส่งสินค้าทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อสนับสนุนการค้าของทั้ง 2 ประเทศ วงเงินลงทุนรวม 484 ล้านดอลลาร์

รัฐบาลพม่าและอินเดียได้ลงนามในกรอบความร่วมมือ KMTT ไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 โดยรัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับ KMTT ว่าเป็นเสมือนประตูสำหรับอินเดียในการเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยรายละเอียดของ KMTT มี 3 ส่วน ประกอบด้วย

1.การเชื่อมการขนส่งทางน้ำระหว่างท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย ในรัฐยะไข่ กับท่าเรือกัลกัตตาของอินเดีย ระยะทาง 420 ไมล์ทะเล ใช้เวลาในการเดินเรือประมาณ 2 วัน โดยท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย กำลังจะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้

2.การเชื่อมการขนส่งในภาคพื้นทวีปผ่านแม่น้ำคาลาดาน จากท่าเรือซิตต่วยสู่เมืองปะแลตวะ ในรัฐชิน ระยะทาง 160 กิโลเมตร

3.การสร้างถนนเชื่อมจากเมืองปะแลตวะ ในรัฐชิน ข้ามชายแดนไปสู่เมือง Aizawl ในรัฐมิโซรัม ของอินเดีย ระยะทางประมาณ 169 กิโลเมตร

โครงการ KMTT เริ่มเดินหน้าก่อสร้างตั้งแต่ปี 2560 ก่อนการรัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งการสร้างท่าเรือน้ำลึกในเมืองซิตต่วย และการสร้างถนนจากเมืองปะแลตวะ ข้ามชายแดนเข้าไปในรัฐมิโซรัม มีความคืบหน้าไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหาร มีข่าวความเคลื่อนไหวของโครงการนี้ปรากฏออกมาไม่มากนัก กระทั่งเพิ่งมีการประชุมนักธุรกิจในรัฐยะไข่ของกงสุลอินเดีย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา.


กำลังโหลดความคิดเห็น