เอเอฟพี - พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะรัฐบาลทหารของพม่า เผยว่า รัฐบาลทหารเปิดกว้างต่อการเจรจากับอองซานซูจีเพื่อยุติวิกฤตที่เกิดจากการรัฐประหารหลังจากการพิจารณาคดีในศาลสิ้นสุดลง
“หลังจากการดำเนินคดีตามกฎหมายของเธอเสร็จสิ้น เราจะพิจารณาเรื่องการเจรจาตามการตอบสนองของเธอ” พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ระบุในคำแถลง
ซูจี วัย 77 ปี ถูกควบคุมตัวตั้งแต่นายพลโค่นล้มรัฐบาลของเธอในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ยุติช่วงเวลาสั้นๆ ของระบอบประชาธิปไตยในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ และจนถึงตอนนี้ ซูจีถูกจำคุกเป็นเวลา 17 ปี จากข้อหาจำนวนมากที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง
ซูจีอาจเผชิญกับโทษจำคุกอีกหลายสิบปีหากเธอถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาอื่นๆ ที่เธอกำลังต่อสู้ในศาลรัฐบาลทหารที่ไม่มีการเปิดเผย
นักข่าวถูกห้ามไม่ให้เข้าฟังการพิจารณาคดี ขณะที่ทนายความของเธอถูกสั่งปิดปากไม่ให้พูดคุยกับสื่อ และรัฐบาลทหารไม่ได้ระบุว่าการพิจารณาคดีของเธอจะเสร็จสิ้นเมื่อใด
เมื่อเดือน ก.ค. โฆษกรัฐบาลทหารกล่าวกับเอเอฟพีว่าไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลทหารจะเข้าสู่การเจรจากับซูจีเพื่อแก้ไขความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจของทหารเมื่อปีก่อน
“เราไม่สามารถพูดได้ว่าการเจรจากับซูจีนั้นเป็นไปไม่ได้” ซอ มิน ตุน กล่าวกับเอเอฟพีในตอนนั้น
ซูจียังคงเป็นบุคคลที่น่าเคารพนับถือในประเทศจากการต่อต้านรัฐบาลทหารชุดก่อนหน้านี้อย่างกล้าหาญ แม้ชื่อเสียงในระดับนานาชาติของเธอจะสั่นคลอนหลังเธอชนะการเลือกตั้งปี 2558 และปกครองประเทศภายใต้ข้อตกลงแบ่งอำนาจกับนายพล
แต่หลายคนที่ติดพันในการต่อสู้กับกองทัพกล่าวว่าการเคลื่อนไหวต้องไปไกลกว่าสิ่งที่ซูจีเคยเป็นผู้นำเมื่อหลายสิบปีก่อน
ผู้เห็นต่างกับรัฐในวันนี้ ที่รวมถึงกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) กล่าวว่าเป้าหมายตอนนี้คือการถอนรากการครอบงำของทหารออกจากการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศอย่างถาวร
ความพยายามทางการทูตของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่พม่าเป็นสมาชิกอยู่ ยังไม่ประสบความสำเร็จในการยุติการนองเลือด
เมื่อปีที่ผ่านมา กลุ่มได้เห็นพ้องกันในฉันทมติ 5 ข้อ ที่เรียกร้องการยุติความรุนแรงและการเจรจาที่สร้างสรรค์ แต่รัฐบาลทหารเพิกเฉยต่อสิ่งนี้
ในสัปดาห์นี้ โนลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติได้เดินทางเยือนพม่าเป็นครั้งแรกตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเมื่อปีก่อน และได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงคนอื่นๆ
แต่เธอถูกปฏิเสธไม่ให้พบกับซูจี และกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า พวกเขามองในแง่ดีเพียงเล็กน้อยว่าการเยือนของเธอจะโน้มน้าวให้ทหารยุติการปราบปรามนองเลือดและมีส่วนร่วมในการเจรจากับฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร
ประชาชนถูกสังหารมากกว่า 2,200 คน และถูกจับกุมกว่า 15,000 คน ในการปราบปรามผู้เห็นต่างของทหารนับตั้งแต่ยึดอำนาจ ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น.