xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ส่งมอบโบราณวัตถุถูกขโมย 30 ชิ้นคืนให้กัมพูชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สหรัฐฯ คืนผลงานศิลปะและโบราณวัตถุที่ถูกขโมย 30 ชิ้นให้กัมพูชา ซึ่งถูกปล้นไปจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งจากเมืองเขมรโบราณ และการลักลอบค้าอย่างผิดกฎหมายทั่วโลกมานานหลายทศวรรษ

เดเมียน วิลเลียมส์ อัยการรัฐบาลกลางของแมนฮัตตัน ได้ส่งมอบโบราณวัตถุที่ถูกปล้นไปให้เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำสหรัฐฯ ต่อหน้าสื่ออย่างเป็นทางการ

“เราเฉลิมฉลองการกลับคืนมาของมรดกทางวัฒนธรรมของกัมพูชาสู่ประชาชนชาวกัมพูชา และขอยืนยันถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะลดการลักลอบค้าผลงานศิลปะและโบราณวัตถุที่ผิดกฎหมาย” วิลเลียมส์ กล่าว

ในบรรดาโบราณวัตถุ 30 ชิ้น ยังรวมถึงพระสกันท์ เทพเจ้าในศาสนาฮินดูทรงนกยูง และรูปปั้นพระพิฆเนศสมัยศตวรรษที่ 10 โดยทั้ง 2 ชิ้นถูกขโมยมาจากเกาะแกร์ เมืองหลวงโบราณของเขมร ที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองพระนครราว 80 กิโลเมตร สำนักงานของวิลเลียมส์ระบุในคำแถลง

โบราณวัตถุชุดนี้ ที่มีตั้งแต่ยุคสำริดไปจนถึงศตวรรษที่ 12 ถูกขโมยไปพร้อมกับโบราณวัตถุอื่นๆ อีกหลายพันชิ้นระหว่างสงครามในกัมพูชาในช่วงทศวรรษ 1970 และในทศวรรษ 1990 ที่เริ่มเปิดประเทศ

สำนักงานอัยการของรัฐบาลกลางกล่าวว่า รูปปั้นและประติมากรรมเขมรถูกลักลอบนำออกจากกัมพูชามาเป็นเวลาหลายทศวรรษให้ผู้ค้าโบราณวัตถุในกรุงเทพฯ ก่อนถูกส่งออกอย่างผิดกฎหมายไปให้นักสะสม นักธุรกิจ และกระทั่งพิพิธภัณฑ์ในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ

ดักลาส แลทช์ฟอร์ด ชาวอเมริกันที่เป็นหนึ่งในผู้ค้าโบราณวัตถุ ถูกตั้งข้อหาลักลอบค้างานศิลปะในปี 2562 แต่คดีนี้หยุดชะงักลงหลังจากแลทช์ฟอร์ดเสียชีวิต

สำนักงานอัยการนิวยอร์กมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งมอบคืนผลงานศิลปะจำนวนมาก โดยตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2563 จนถึงสิ้นปี 2564 มีผลงานศิลปะอย่างน้อย 700 ชิ้น ถูกส่งคืนให้ 14 ประเทศ รวมถึงกัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ อิรัก กรีซ และอิตาลี

ในปี 2564 ไมเคิล สไตน์ฮาร์ท นักสะสมชาวอเมริกันได้ส่งคืนโบราณวัตถุราว 180 ชิ้น ที่ถูกขโมยไปจากทั่วโลกในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงกับรัฐบาล โดยโบราณวัตถุทั้งหมดมีมูลค่าราว 70 ล้านดอลลาร์

เมืองพระนคร ที่มีพื้นที่ครอบคลุมราว 400 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งโบราณคดีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรขอมที่มีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 จนถึงศตวรรษที่ 14

พื้นที่ดังกล่าวที่เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอีกครั้งหลังจากปิดไปนาน 2 ปี เพราะการระบาดของโควิด-19 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี 2535.












กำลังโหลดความคิดเห็น