รอยเตอร์ - อาเซียน กลุ่มระดับภูมิภาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กล่าวเตือนถึงความเสี่ยงที่ความผันผวนซึ่งเกิดขึ้นจากความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันอาจนำไปสู่การคำนวณผิด การเผชิญหน้าอย่างร้ายแรง ความขัดแย้งในวงกว้าง และผลลัพธ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ในบรรดาชาติมหาอำนาจหลักของโลก
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้แสดงความเห็นดังกล่าวในคำแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศ หลังกัมพูชา ที่เป็นประธานอาเซียนได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดระดับความตึงเครียดกรณีไต้หวัน
การประชุมในกรุงพนมเปญของกลุ่ม 10 ประเทศ ที่มีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมด้วย รวมทั้งจีนและสหรัฐฯ ถูกบดบังจากเหตุการณ์ในไต้หวัน หลังการเยือนของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
“อาเซียนพร้อมที่จะแสดงบทบาทสร้างสรรค์ในการอำนวยความสะดวกในการเจรจาอย่างสันติระหว่างทุกฝ่าย” อาเซียนกล่าว และเรียกร้องการอดทนอดกลั้นสูงสุด และให้ฝ่ายต่างๆ ละเว้นจากการกระทำที่ยั่วยุ โดยการเยือนไต้หวันของเพโลซี ที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนแรกของสหรัฐฯ ในรอบ 25 ปี ทำให้จีนโกรธเคืองอย่างมากและตอบโต้ด้วยการจัดการซ้อมรบและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าว
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักก้าวเดินอย่างระมัดระวังในความพยายามที่จะสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ของพวกเขากับจีนและสหรัฐฯ
คาดว่าการเจรจาหารือของอาเซียนจะมุ่งเน้นไปที่การผลักดันทางการทูตของกลุ่มเพื่อแก้ไขวิกฤตในพม่า ที่อยู่ในความโกลาหลวุ่นวายตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจในการรัฐประหารปีก่อน
นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชากล่าววานนี้ (3) ว่า อาเซียนอาจจำเป็นต้องทบทวนแผนสันติภาพที่ได้ตกลงไว้กับพม่าอีกครั้งหากผู้ปกครองทหารของพม่าประหารชีวิตนักโทษเพิ่ม
อาเซียนได้ผลักดันรัฐบาลทหารพม่าให้ปฏิบัติตามฉันทมติสันติภาพที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อปีก่อน และได้ประณามการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว 4 คน ที่เชื่อมโยงกับขบวนการต่อต้านการปกครองของทหาร ที่เป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษของพม่า
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าได้กล่าวปกป้องการประหารชีวิตว่าเป็นความยุติธรรมสำหรับประชาชน และไม่สนใจเสียงประณามจากนานาประเทศ
พม่าไม่มีตัวแทนเข้าร่วมการประชุมของอาเซียนในสัปดาห์นี้หลังกองทัพพม่าปฏิเสธข้อเสนอส่งผู้แทนที่ไม่ใช่รัฐบาลทหารเข้าร่วม ซึ่งอาเซียนกีดกันนายพลพม่าจนกว่าจะมีความคืบหน้าในแผนสันติภาพ
กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์กล่าวเมื่อวันพุธ (3) ว่า พม่าไม่เคารพความพยายามสร้างสันติภาพ และเสริมว่าการมีส่วนร่วมกับผู้ปกครองทหารของพม่าจะถูกจำกัด เว้นแต่จะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนสันติภาพที่ตกลงไว้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และนักการทูตบางคนตั้งคำถามว่าอาเซียน ที่มีธรรมเนียมของการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันจะใช้มาตรการใดเพื่อดำเนินการกับพม่า.