รอยเตอร์ - ศาลโลกปฏิเสธการคัดค้านคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพม่าเมื่อวันศุกร์ (22) เกี่ยวกับการปฏิบัติของพม่าต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา การตัดสินที่ปูทางให้คดีได้ดำเนินการไต่สวนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
พม่า ที่ปัจจุบันปกครองโดยรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจในปี 2564 ได้โต้แย้งว่าแกมเบียที่ยื่นฟ้องคดีนี้ ไม่มีฐานะที่จะทำเช่นนั้นยังศาลสูงสุดของสหประชาชาติ หรือที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ)
แต่ประธานผู้พิพากษากล่าวว่า ทุกรัฐที่ได้ลงนามในอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 1948 สามารถและต้องดำเนินการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และศาลก็มีขอบเขตอำนาจในคดีนี้
“แกมเบียสามารถดำเนินการได้ในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ประธานผู้พิพากษาอ่านข้อสรุปการพิจารณาตัดสินของคณะผู้พิพากษา 13 คน
จากนี้ ศาลจะดำเนินการพิจารณาพื้นฐานของข้อเท็จจริงของคดี ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานหลายปี
แกมเบียยื่นฟ้องเรื่องโรฮิงญาในปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม ที่ประกอบด้วยสมาชิก 57 ประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายให้พม่ารับผิดชอบและป้องกันการนองเลือดมากไปกว่านี้
รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของแกมเบีย กล่าวนอกห้องพิจารณาคดีว่า เขามีความสุขมากกับคำตัดสินและมั่นใจว่าการฟ้องร้องจะได้รับชัยชนะ
แกมเบียเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้หลังจาก อาบูบาคาร์ ตัมบาดู อดีตรัฐมนตรียุติธรรมแกมเบียและอดีตอัยการศาลคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาของสหประชาชาติ ได้เยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ และกล่าวว่าเรื่องราวที่เขาได้ยินฟื้นความทรงจำของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
ตัวแทนของพม่ากล่าวว่า ประเทศจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติในการดำเนินคดีต่อไป
ผู้ชุมนุมที่อยู่นอกประตูศาลได้ชูป้ายสีแดงที่มีข้อความเขียนว่า ‘Free Burma’ และร้องตะโกนใส่รถของผู้แทนจากรัฐบาลทหารพม่าที่ออกจากอาคารหลังศาลมีคำตัดสิน
คณะค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติสรุปว่าการปราบปรามของทหารพม่าในปี 2560 ที่ขับไล่โรฮิงญา 730,000 คน ไปยังบังกลาเทศยังรวมถึงการกระทำที่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
พม่าปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยปฏิเสธข้อค้นพบของสหประชาชาติว่าลำเอียงและมีข้อบกพร่อง และกล่าวว่า การปราบปรามของพวกเขามุ่งเป้าที่กลุ่มกบฏโรฮิงญาที่เคยก่อเหตุโจมตี
แม้ว่าคำตัดสินของศาลในกรุงเฮกจะมีผลผูกพันและโดยปกติแล้วประเทศต่างๆ จะปฏิบัติตามคำตัดสิน แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้คำคัดสินดังกล่าว
ในคำตัดสินชั่วคราวปี 2563 ศาลได้สั่งให้พม่าปกป้องโรฮิงญาจากอันตราย แต่กลุ่มโรฮิงญาและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าไม่มีความพยายามที่มีความหมายใดๆ ที่จะยุติการกดขี่ข่มเหงอย่างเป็นระบบ
โรฮิงญายังคงถูกปฏิเสธสถานะพลเมืองและเสรีภาพในการเคลื่อนไหวในพม่า หลายหมื่นคนยังถูกกักตัวอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นนานนับทศวรรษ
กระทรวงการต่างประเทศของบังกลาเทศออกคำแถลงยินดีกับคำตัดสินของศาล
“สำหรับเหยื่อที่อาศัยอยู่ในค่ายในบังกลาเทศตลอดจนในพม่า พวกเขาเห็นความหวังที่ความยุติธรรมจะถูกส่งต่อมาถึงพวกเขา และผู้กระทำผิดในกองทัพพม่าจะถูกนำตัวมารับผิดชอบ” แอมเบีย เพอร์วีน จากสมาคมชาวโรฮิงญาในยุโรป กล่าวที่ด้านนอกศาล
รัฐบาลทหารได้คุมขังอองซานซูจี ผู้นำประชาธิปไตย ที่ปกป้องพม่าด้วยตนเองในการพิจารณาคดีเมื่อปี 2563 ที่ศาลในกรุงเฮก.