xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าทางรถไฟ "ลาว-เวียดนาม" เปิดทางออกทะเลที่ท่าเรือหวุงอ๋าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธีเซ็น MOU ให้บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ศึกษา สำรวจ และออกแบบก่อสร้างทางรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ถึงเมืองท่าแขก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนี้ (29 มิ.ย.)
MGR Online - ลาวยกระดับยุทธศาสตร์ Land Link ขึ้นเป็น Logistics Link เดินหน้าสร้างทางรถไฟลาว-เวียดนาม ระยะทาง 452 กิโลเมตร มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ เปิดทางออกทะเลที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง จังหวัดฮาติงห์

วานนี้ (29 มิ.ย.) มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว โดยคำจัน วงแสนบูน รองรัฐมนตรี ในฐานตัวแทนรัฐบาล กับเวียงคอน สิดทิไซ รองประธานบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว มหาชน เนื้อหา MOU มอบหมายให้บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ศึกษา สำรวจ และออกแบบก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ถึงเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน กำหนดให้แล้วเสร็จใน 24 เดือน

บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว เป็นบริษัทในเครือพงสะหวัน กลุ่มธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ของลาว ที่ประกอบธุรกิจหลากหลาย ทั้งธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมไม้ การเงิน สายการบิน และน้ำมัน

เวียงคอน สิดทิไซ รองประธานบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว กล่าวว่า ทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าแขก เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ Laos Logistics Link (LLL) ที่รัฐบาลลาวมอบหมายให้บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาวเป็นผู้พัฒนาและรับผิดชอบ มีเป้าหมายเพื่อต่อยอดยุทธศาสตร์ประเทศจากเดิมที่เป็นเพียง Land Link หรือดินแดนเชื่อมต่อให้ประเทศเพื่อนบ้าน ขึ้นเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ หรือจุดเชื่อมเส้นทางการค้าของภาคพื้นทวีป กับนานาประเทศทั่วโลก

โครงการในยุทธศาสตร์ LLL ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ทางรถไฟลาว-เวียดนาม และโครงการท่าบกท่านาแล้ง-เขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบัวละพา

โดยทางรถไฟลาว-เวียดนาม มีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระยะทางรวม 452 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ จากนครหลวงเวียงจันทน์ถึงเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ระยะทาง 312.81 กิโลเมตร และจากเมืองท่าแขกถึงท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ระยะทาง 139.19 กิโลเมตร

บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ได้สัมปทานจากกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ให้เป็นผู้พัฒนาทางรถไฟสายนี้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ได้ว่าจ้างบริษัท National Consulting Group ที่เคยศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของทางรถไฟลาว-จีน มาทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างละเอียด (ESIA) ให้ทางรถไฟลาว-เวียดนาม

แนวเส้นทางรถไฟเริ่มจากนครหลวงเวียงจันทน์ขนานไปกับถนนสาย 13 (ใต้) ผ่านแขวงบ่ลิคำไซ ถึงเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปทางตะวันออกเข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนาเพ้า-จาลอ ขึ้นสู่จังหวัดกว๋างบิ่ญ และจังหวัดฮาติงห์ มีปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างตั้งอยู่ชายทะเลจังหวัดฮาติงห์ ภาคกลางค่อนมาทางเหนือของเวียดนาม อยู่ใต้กรุงฮานอยลงมาประมาณ 340 กิโลเมตร และอยู่ทางเหนือของจังหวัดกว๋างบิ่ญ (โปรดดูแผนที่ประกอบ)

แนวเส้นทางรถไฟและจุดที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง
รัฐบาลลาวและเวียดนามได้ตั้งบริษัท Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company ขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านล้านด่ง เดิมฝ่ายเวียดนามถือหุ้น 80% ลาว 20% เพื่อร่วมกันพัฒนาและบริหารท่าเรือหวุงอ๋างให้เป็นท่าเรือสำหรับส่งออกสินค้าที่ลาวเป็นผู้ผลิต

ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างยาว 1.5 กิโลเมตร อยู่บนร่องน้ำลึก 9.5 เมตร รองรับเรือสินค้าขนาด 46,000 เดทเวทตัน ประกอบด้วย 3 ท่าเทียบเรือ โดยท่าเทียบเรือ 1 ยาว 185 เมตร กว้าง 28 เมตร มีคลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร ลานเก็บสินค้ากว้าง 13,000 ตารางเมตร ท่าเทียบเรือ 2 ยาว 270 เมตร กว้าง 31 เมตร คลังสินค้ากว้าง 5,000 ตารางเมตร ลานเก็บสินค้ากว้าง 24,000 ตารางเมตร และท่าเทียบเรือ 3 ยาว 225 เมตร กว้าง 95 เมตร คลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร ลานเก็บสินค้ากว้าง 30,000 ตารางเมตร

ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 กระทรวงการเงิน ได้ร่วมทุนกับบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ตั้งรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนามขึ้น เพื่อเข้าไปถือหุ้น 60% ในบริษัท Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company ทำหน้าที่บริหารท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

ส่วนท่าบกท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ดำเนินการในนามบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค ในเครือปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ได้สัมปทานจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 382 เฮกตาร์ (2,387 ไร่) ที่ท่านาแล้ง บ้านดงโพสี เมืองหาดซายฟอง ซึ่งอยู่กึ่งกลางและเป็นจุดเชื่อมต่อของทางรถไฟลาว-จีน กับโครงข่ายทางรถไฟลาว-ไทย และจะเป็นจุดเริ่มต้นของทางรถไฟลาว-เวียดนาม

เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค ประกอบด้วย ด่านสากล ท่าบก และศูนย์ขนถ่ายสินค้าครบวงจร ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 727 ล้านดอลลาร์ (23,991 ล้านบาท) แบ่งเป็นการสร้างท่าบก 180 ล้านดอลลาร์ สร้างศูนย์ขนถ่ายสินค้าครบวงจร 547 ล้านดอลลาร์ มีอายุสัมปทาน 50 ปี เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม 2563 เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564.

พิธีเซ็นสัญญาจ้างบริษัท National Consulting Group มาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการทางรถไฟลาว-เวียดนาม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563


กำลังโหลดความคิดเห็น