xs
xsm
sm
md
lg

เมียนมาร์เบียร์ยอดขายร่วง หลังชาวพม่าแห่คว่ำบาตรธุรกิจเอี่ยวกองทัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - เมื่อบริษัทคิริน ผู้ผลิตเบียร์สัญชาติญี่ปุ่นประกาศว่าจะยุติการดำเนินงานในพม่าเมื่อเดือนที่ผ่านมา ข่าวดังกล่าวไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรให้ จ่อ จี และนักดื่มอีกจำนวนมากในประเทศ เนื่องจากเขาคว่ำบาตรเบียร์ที่ผลิตโดยกลุ่มบริษัทของทหารมานานแล้ว

หลายปีที่ผ่านมา เมียนมาร์เบียร์ (Myanmar Beer) ครองพื้นที่ทั้งในบาร์ ร้านอาหาร และชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เกต โดยมีบริษัทญี่ปุ่นให้การสนับสนุน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากประเทศเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเมื่อกองทัพคลายการยึดกุมอำนาจในปี 2554

แต่หลังจากนายพลขับไล่รัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี ในเดือน ก.พ.2564 ชาวพม่าจำนวนมากหันหลังให้เบียร์ยี่ห้อดังกล่าว รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่ผลิตโดยบริษัทที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกองทัพ ตั้งแต่สบู่ไปจนถึงกาแฟ

“เรารู้ว่าเบียร์ยี่ห้ออื่นกำลังจ่ายภาษีให้กองทัพ แต่เราไม่อยากให้เงินของพวกเราทั้งหมดไปอยู่ที่พวกเขา เราเลี่ยงที่จะไม่ดื่ม หากในร้านมีขายแค่เมียนมาร์เบียร์ เราก็จะไม่ดื่ม” จ่อ จี กล่าว ขณะนั่งอยู่นอกบาร์บนถนนหมายเลข 19 ในย่างกุ้ง

ซอ นาย ผู้จัดการร้านอาหารแห่งหนึ่งในย่านตัวเมืองย่างกุ้ง กล่าวว่า ร้านของเขาไม่ได้ขายเมียนมาร์เบียร์มาตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 และไม่เพียงแค่ยกเลิกคำสั่งซื้อเบียร์ยี่ห้อนี้เท่านั้น ซอ นาย กล่าวว่า เขายังขอให้ทางบริษัทเก็บโต๊ะ เก้าอี้ และร่มที่ติดสัญลักษณ์ของเบียร์ยี่ห้อนี้กลับไปด้วย

“หากคนเห็นโลโก้เมียนมาร์เบียร์กับชื่อร้านอาหารของเรา พวกเขาจะไม่มาใช้บริการ” ซอ นาย กล่าว


ท่ามกลางความโกรธแค้นไม่พอใจของประชาชนต่อการปราบปรามผู้เห็นต่างของกองทัพ ที่กลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่นกล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,700 คน ร้านที่ยังจำหน่ายเมียนมาร์เบียร์ก็เผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงเช่นกัน

เช่นในต้นเดือน มี.ค. สื่อท้องถิ่นรายงานว่าเกิดเหตุระเบิดนอกบาร์ 2 แห่งในย่างกุ้ง และร้านอาหารอีกหนึ่งแห่งในเมืองมัณฑะเลย์ เนื่องจากยังจำหน่ายเบียร์ยี่ห้อดังกล่าว ส่วนคนขับรถส่งเบียร์ในเขตที่ราบภาคกลางในชนบทถูกกลุ่มต่อต้านรัฐประหารท้องถิ่นเข้าสกัดและทิ้งสินค้าของพวกเขา

บริษัทเมียนมาร์ บริวเวอรี่ ที่ดำเนินการโดยบริษัทคิริน และบริษัท Myanma Economic Holdings ที่เป็นกลุ่มบริษัทของกองทัพ ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 80% ตามตัวเลขที่คิรินเผยแพร่ในปี 2561

หลังจากหลายเดือนของการหยุดชะงักเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และการรัฐประหารในปี 2564 ผลกำไรจากการดำเนินงานสิ้นปีของบริษัทอยู่ที่ 6,600 ล้านเยน (54 ล้านดอลลาร์) เทียบกับ 13,800 ล้านดอลลาร์ ของปีก่อนหน้า

ในเดือน ก.พ. หลังจากพยายามที่จะยุติการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทที่กองทัพสนับสนุน และจากแรงกดดันของกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นรายนี้ประกาศว่าจะถอนตัวออกจากพม่า

การคว่ำบาตรและการถอนตัวที่กำลังจะเกิดขึ้นทำให้คู่แข่งอย่างไฮเนเก้น คาร์ลสเบิร์ก และช้าง จับตามองช่องว่างตลาดดังกล่าว

ผู้ผลิตเบียร์ทั้ง 3 ราย ได้ส่วนแบ่งตลาดจากเมียนมาร์เบียร์ โดยเฉพาะในเขตเมือง ผู้สังเกตการณ์ตลาดในย่างกุ้งที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุ

ทั้งนี้ เอเอฟพีได้ติดต่อคาร์ลสเบิร์กเพื่อขอความเห็น ขณะที่ตัวแทนของไฮเนเก้นที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อกล่าวว่า “เร็วเกินไปที่จะประเมินและแสดงความเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค”

แต่เมื่อย้อนกลับไปที่ถนนหมายเลข 19 อ่อง เมียว กล่าวว่า ลูกค้าเปลี่ยนมาดื่มเบียร์ยี่ห้ออื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่กองทัพสนับสนุนมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช้าง ไทเกอร์ของไฮเนเก้น และทูบอร์กของคาร์ลสเบิร์ก

“คนไม่อยากดื่มเมียนมาร์เบียร์ทั้งที่รสชาติดี ความต้องการลดลงอย่างแน่นอน” อ่อง เมียว กล่าวกับเอเอฟพี

ในภูมิทัศน์ทางการเมืองที่ซับซ้อนของพม่า ยังคงมีบางพื้นที่ที่ลูกค้าสามารถเพลิดเพลินกับเมียนมาร์เบียร์ได้อย่างสงบ

บาร์ในกรุงเนปีดอ เมืองหลวงของประเทศ ยังคงเสิร์ฟเมียนมาร์เบียร์ และมีรายงานว่าเมียนมาร์เบียร์ยังคงมีวางจำหน่ายในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ความรุนแรงจากการรัฐประหารเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย

การคว่ำบาตรเมียนมาร์เบียร์ไม่ปรากฏให้เห็นในรัฐยะไข่ ที่มีการสงบศึกกันระหว่างรัฐบาลทหารและกองทัพอาระกัน (AA)

“เราไม่เห็นการคว่ำบาตรใดๆ ที่นี่ เรายังดื่มเมียนมาร์เบียร์ แอลกอฮอล์ไม่แรงเกินไปและรสชาติก็ดีด้วย” ตุน ตุน พนักงานรัฐ อายุ 28 กล่าว ขณะนั่งอยู่ที่บาร์ในเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ที่ป้ายโฆษณาเมียนมาร์เบียร์ยังคงปรากฏให้เห็นตามท้องถนน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า กองทัพอาระกันใช้ประโยชน์จากความสงบ ขยายการปรากฏตัวในรัฐ ทั้งจัดตั้งศาลและการบริหารของตนเอง ในขณะที่รัฐบาลทหารต่อสู้กับผู้เห็นต่างต่อต้านการรัฐประหารในที่อื่นๆ.


กำลังโหลดความคิดเห็น