รอยเตอร์ - สหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับผู้ค้าอาวุธและบริษัทต่างๆ ที่พวกเขากล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดหาอาวุธให้รัฐบาลทหารพม่า ขณะที่แคนาดาและอังกฤษต่างกำหนดมาตรการคว่ำบาตรที่คล้ายกัน
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า มาตรการลงโทษของสหรัฐฯ มุ่งเป้าไปที่ผู้ค้าอาวุธ 3 ราย และบริษัท 2 แห่ง รวมถึงกลุ่มบริษัทที่ดำเนินงานในภาคส่วนการป้องกันที่มีนายเต ซา ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ค้าอาวุธเป็นเจ้าของ ซึ่งนายเต ซา นั้นอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อยู่แล้ว
วอชิงตันได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับหน่วยงาน 27 แห่ง และบุคคล 70 ราย นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.2564 ที่ทำให้พม่าตกอยู่ในความโกลาหล และสหรัฐฯ จะยังคงกำหนดมาตรการกับรัฐบาลทหารต่อไป แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในคำแถลง
“เราดำเนินมาตรการเหล่านี้เพื่อตอบสนองต่อความรุนแรงที่ทวีความรุนแรงขึ้นของรัฐบาลทหาร เพื่อแสดงการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งของเราต่อประชาชนชาวพม่า และเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบในความเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารและความรุนแรงที่รัฐบาลทหารได้กระทำไว้” บลินเคน ระบุ
สหรัฐฯ ยังกำหนดมาตรการคว่ำบาตรกองพลทหารราบเบาที่ 66 ของกองทัพพม่า ที่กระทรวงการคลังระบุว่า กองพลนี้ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุสังหารหมู่พลเรือนในเมืองพะเย และเมืองพะยูโซ และผู้บัญชาการทหารอีก 2 นาย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วอชิงตันได้พิจารณาตัดสินว่ากองทัพพม่าก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการใช้ความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า พวกเขาหวังว่าการตัดสินดังกล่าวจะช่วยป้องกันการกระทำทารุณโหดร้ายของทหาร
กระทรวงการต่างประเทศของพม่าปฏิเสธการตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่ระบุว่ากองทัพพม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยกล่าวว่าเป็นการตัดสินจากข้อมูลเท็จและเป็นความพยายามที่จะแทรกแซงกิจการภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม สถานทูตพม่าในวอชิงตันไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้น
ส่วนแคนาดาประกาศว่าได้ดำเนินมาตรการกับบุคคล 4 ราย และบริษัท 2 แห่ง ที่พวกเขากล่าวว่าเป็นผู้รับผิดชอบจัดซื้อจัดหาอาวุธให้กองทัพพม่า ขณะที่อังกฤษขึ้นบัญชีดำบุคคล 2 ราย และบริษัท 3 แห่งเช่นกัน.