MGR Online - นครหลวงเวียงจันทน์ผลักดันใช้รถเมล์ไฟฟ้า เริ่มทดลอง 3 เส้นทางก่อนวันนี้ เชื่อมจากใจกลางเมือง ไปยังสถานีรถไฟลาว-จีน และรถไฟลาว-ไทย ค่าโดยสาร 13-21 บาทตลอดสาย ช่วงแรกเปิดให้ขึ้นฟรีถึงวันที่ 13 เมษายน
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ได้มีพิธีเปิดทดลองนำรถเมล์ไฟฟ้า (EV BUS) มาวิ่งให้บริการรับส่งประชาชนใน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย
เส้นทางที่ 48 จากสถานีรถเมล์ขัวดิน-ดงนาโซก-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-สีเกิด รวมระยะทางรวม 15 กิโลเมตร เก็บค่าโดยสารตลอดสาย คนละ 5,000 กีบต่อเที่ยว หรือประมาณ 13 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 380 กีบ = 1 บาท)
เส้นทางที่ 35 จากสถานีรถเมล์ตลาดเช้า-ศูนย์การค้าทาดหลวงพลาซ่า-ตลาดหัวขัว-สถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ ต้นทางรถไฟลาว-จีน ระยะทางรวม 17 กิโลเมตร เก็บค่าโดยสารตลอดสาย คนละ 5,000 กีบต่อเที่ยว
เส้นทางที่ 22 จากสถานีรถเมล์ขัวดิน-ศูนย์การค้าทาดหลวงพลาซ่า-ศูนย์การค้าลาว-ไอเต็ก-เขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง-สถานีรถไฟลาว-ไทย-ตลาดไฮคำ-เขตเศรษฐกิจพิเศษครบวงจรไซเสดถา(หลัก 21)-สถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้ของทางรถไฟลาว-จีน ระยะทางรวม 26 กิโลเมตร เก็บค่าโดยสารตลอดสาย 8,000 กีบต่อเที่ยว หรือประมาณ 21 บาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการทดลองใช้ จะเปิดให้ประชาชนขึ้นฟรีไปถึงวันที่ 13 เมษายน จากนั้นจึงค่อยเก็บโดยสาร
การนำรถเมล์ไฟฟ้ามาวิ่งรับส่งผู้โดยสารในนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นการขยายเส้นทางขนส่งสาธารณะเพื่อลดการจราจรติดขัด ช่วยลดปัญหามลพิษ รวมถึงเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วประเทศ เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และสนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ลาวสามารถผลิตขึ้นได้เอง
รัฐบาลลาวเริ่มนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2562 เริ่มจากการจัดสัมนาใหญ่ในหัวข้อ Laos National Electric Vehicle Summit 2019 ขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562
ต่อมา ในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีของลาว ได้ประกาศนโยบายเปิดเสรีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าทุกด้าน ทั้งการนำเข้า จัดจำหน่าย การตั้งโรงงานประกอบ ตลอดจนการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า อู่ซ่อมบำรุง
เนื้อหาหลักของนโยบายนี้ รัฐบาลได้ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 0% และไม่จำกัดโควตานำเข้า ส่วนภาษีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าคิดเพียง 3% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 10%
วันที่ 21 ตุลาคม 2564 กระทรวงการเงิน ได้เชิญบริษัท ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อย่างเป็นทางการที่มีอยู่แล้วในลาวให้เสนอข้อมูลรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้นำเข้ามาแล้ว หรือมีแผนจะนำเข้ามาต่อรัฐบาลซึ่งกำลังจะเปลี่ยนรถยนต์ของหน่วยงานรัฐให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในอนาคต ตามโยบายที่ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม
ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมใหญ่ผู้แทนองค์คณะพรรค กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ครั้งที่ 3 ได้พิจารณาแนวทางสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ โดยที่ประชุมเห็นว่านโยบายและกลไกตลาดที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ และมีข้อจำกัดในการจูงใจประชาชนให้เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ดังนั้น จึงมีข้อเสนอหลายประการต่อรัฐบาล ได้แก่
- ลดภาษีเงินได้สำหรับธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าจาก 20% เหลือ 10%
- ตั้งแต่ปี 2565-2568 ให้กำหนดสัดส่วนโควตานำเข้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันได้สูงสุด 70% อีก 30% ต้องเป็นการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า จากนั้นในปี 2569-2573 ให้ลดการนำเข้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเหลือ 50% และตั้งแต่ปี 2574 เป็นต้นไป กำหนดให้รถยนต์ที่จะนำเข้ามาต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 50%
- ให้รัฐบาลสร้างกลไกควบคุมราคาจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไม่ให้สูงจนเกินไป
- ส่งเสริมให้ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ เข้ามาเปิดศูนย์บริการในลาว
ในทางกลับกัน ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางเพิ่มรายได้เข้าสู่งบประมาณของรัฐ เพื่อทดแทนรายรับที่เสียไปจากการสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเสนอให้
- ขึ้นภาษีน้ำเข้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันจากเดิม 35-40% เป็น 70%
- เพิ่มภาษีการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันแต่ละประเภทขึ้นมาอีกประเภทละ 5%
- ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มรถยนต์ที่ใช้น้ำมันจากเดิม 10% เป็น 20%
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาโครงสร้างค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และต้องมีการชาร์จไฟอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- ค่าไฟฟ้าสำหรับชาร์จไฟตามบ้าน หรือที่อยู่อาศัย ให้คิด 955 กีบต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง (kWh) ในฤดูแล้ง (2.51 บาท) และ 677 กีบ/kWh ในฤดูฝน (1.78 บาท) คิดเป็นค่าไฟเฉลี่ยประมาณ 816.5 กีบ/kWh (2.15 บาท)
- ค่าชาร์จไฟแบบเร็วตามสถานีชาร์จ สำหรับการชาร์จต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ให้คิด 1,826 กีบ/kWh ในฤดูแล้ง และ 1,539 กีบ/kWh ในฤดูฝน คิดเป็นค่าไฟเฉลี่ย 1,682.5 กีบ/kWh (4.43 บาท).