xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ทหารพม่าตัดหน้า รบ.เงาส่งผู้แทนร่วมการพิจารณาคดีที่ศาลโลกท่ามกลางเสียงค้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - รัฐบาลทหารพม่าจะเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ ในกรุงเฮก สัปดาห์หน้า แม้มีคำร้องเรียนจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่าสิ่งนี้อาจทำให้รัฐบาลทหารได้รับการยอมรับในระดับสากลแม้ไม่มีสถานะทางกฎหมาย

การพิจารณาคดีจะจัดการเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องขอบเขตอำนาจศาล ที่เกิดขึ้นจากการยื่นฟ้องของแกมเบียในปี 2562 ยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือที่รู้จักในชื่อศาลโลก โดยกล่าวหาพม่าเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชากรของชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา

ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีออกจากพม่าหลังการปราบปรามของทหารในปี 2560 และบังคับให้พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแออัดในฝั่งพรมแดนบังกลาเทศ ที่ผู้สอบสวนของสหประชาชาติสรุปว่าการปราบปรามของทหารมีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ก่อนที่รัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจีจะถูกโค่นล้มในการรัฐประหารปีก่อน ซูจีได้โต้แย้งข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อกองทัพที่แกมเบียยื่นฟ้อง

ในตอนนี้ คาดว่าตัวแทนของรัฐบาลทหารจะเข้าร่วมการพิจารณาเสมือนจริงที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่จะจัดการกับคำคัดค้านเบื้องต้นเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจศาลที่พม่ายื่นไว้ในเดือน ม.ค.2564 โดยการพิจารณามีกำหนดเริ่มในวันจันทร์ (21)

หน่วยงานหลายแห่งของสหประชาชาติได้เชิญตัวแทนของรัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุมแม้ว่ากองทัพพม่าไม่มีสถานะอย่างเป็นทางการที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนิวยอร์ก และคณะกรรมการฝ่ายการแต่งตั้งของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ตัดสินในเดือน ธ.ค. ที่จะเลื่อนการตัดสินใจในเรื่องนี้

ในระหว่างนี้ คณะกรรมการฝ่ายการแต่งตั้งได้อนุญาตให้ จ่อ โม ตุน ที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลที่ถูกโค่นล้มในการรัฐประหารวันที่ 1 ก.พ.2564 ดำรงตำแหน่งเดิมต่อไป

สมาชิกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลคู่ขนานที่ประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติพลัดถิ่น กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ว่า จ่อ โม ตุน ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนของ NUG ในกรุงเฮก เป็นเพียงบุคคลเดียวที่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมกับศาลในนามของพม่า

“รัฐบาลทหารไม่ใช่รัฐบาลของพม่า” คริสโตเฟอร์ ซิโดติ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและอดีตสมาชิกของคณะสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีพม่าของสหประชาชาติ กล่าว

“รัฐบาลทหารไม่มีทั้งอำนาจหรือความสามารถในการทำหน้าที่เป็นรัฐบาลพม่าทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่การปรากฏตัวต่อหน้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลทหารพยายามจะทำ” ซิโดติ กล่าวกับรอยเตอร์

“ประชาคมโลก รวมถึงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศควรทราบเรื่องนี้ และไม่ควรให้ความชอบธรรมไม่ว่ารูปแบบใดต่อรัฐบาลทหาร” ซิโดติ กล่าวเสริม

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังไม่ได้พิจารณาข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และในเดือน ธ.ค.2562 ซูจีได้เรียกร้องให้ศาลโลกถอนคำฟ้องของแกมเบีย ปฏิเสธข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และกล่าวว่าศาลโลกไม่มีขอบเขตอำนาจในการตัดสิน แต่ NUG กล่าวเมื่อต้นเดือนว่า พวกเขายอมรับเขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการพิจารณาข้อกล่าวหาดังกล่าว

แหล่งข่าวที่ศาลกรุงเฮกกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ผู้แทนของพม่าที่ลงทะเบียนไว้คือ โก โก หล่าย บุคคลที่รัฐบาลทหารพม่าแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนเพื่อการประสานงานระหว่างประเทศ และธิดา อู อัยการสูงสุดแห่งสหภาพพม่า ที่จะนำทีมกฎหมาย 8 คน เข้าร่วมการพิจารณา

เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 คน ที่อยู่ในรายชื่อคว่ำบาตรของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะมาแทนซูจี ที่หลังจากการรัฐประหารถูกตัดสินจำคุก 6 ปี และเผชิญกับโทษจำคุกสูงสุดรวมกันถึง 150 ปี จากคดีต่างๆ ที่กองทัพยื่นฟ้อง

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศปฏิเสธที่จะตอบคำถามของรอยเตอร์เกี่ยวกับวิธีตัดสินว่าใครที่สามารถได้รับการรับรองให้เป็นผู้แทนของรัฐในกรณีที่รัฐบาลของประเทศถูกโต้แย้ง

“การปรากฏตัวของรัฐบาลทหารในการพิจารณาคดีไม่ได้ให้ความชอบธรรมหรือรับรองการเป็นตัวแทนของกองทัพต่อสหประชาชาติ” นักวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว และว่าจุดสนใจสำคัญควรอยู่ที่ความยุติธรรมที่จะเกิดกับชาวโรฮิงญาในพม่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น