xs
xsm
sm
md
lg

อดีตผู้นำโกก้าง “เผิง จาเซิง” เสียชีวิตวันนี้ด้วยโรคชรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เผิง จาเซิง อดีตผู้นำกองทัพโกก้าง
MGR Online - “เผิง จาเซิง”อดีตผู้นำกองทัพโกก้าง ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดเขตปกครองตนเอง เสียชีวิตแล้ววันนี้ ด้วยโรคชรา ในวัย 94 ปี

กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมา (Myanmar National Democratic Alliance Army : MNDAA) หรือกองทัพโกก้าง ประกาศว่า เวลา 05.40 น.วันนี้ (16 ก.พ.) เผิง จาเซิง อดีตผู้นำ MNDAA และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งเขตพิเศษหมายเลข 1 หรือเขตปกครองตนเองชาติพันธุ์โกก้าง ได้เสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบภายในบ้านพักจากโรคชรา ด้วยวัย 94 ปี

ชาวโกก้างคือชาวจีนฮั่น เป็นอดีตครอบครัวทหารกองทัพตระกูลหยาง ที่ลี้ภัยการเมืองในจีนลงมาทางใต้เมื่อเกือบ 300 ปีก่อน และลงหลักปักฐานในพื้นที่ซึ่งเป็นชายแดนพม่า-จีน ภาคเหนือของรัฐชานปัจจุบัน ตั้งแต่เมื่อปี 2383

หลังอังกฤษเข้าครอบครองรัฐชาน กำหนดให้เป็นดินแดนภายใต้อารักขาเมื่อปี 2433 ได้ปักปันเขตแดนกับจีน ปรากฏว่าเมืองโกก้างถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาน ทำให้ทุกวันนี้ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ในเขตโกก้าง ยึดวัฒนธรรมจีนเป็นหลัก ภาษาถิ่นที่ใช้ทั้งการพูดและเขียนก็เป็นภาษาจีนกลาง เพียงแต่ใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการเท่านั้น

หลังนายพลเนวิน นำกำลังเข้ายึดอำนาจในปี 2505 ได้จับกุมและสังหารผู้นำโกก้าง ชาวโกก้างจึงได้เริ่มเคลื่อนไหว ทำสงครามต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหารพม่า


5 มกราคม 2511 เผิง จาเซิง ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยประชาชนโกก้าง (KPLA) ได้นำ KPLA เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ต่อสู้กับกองทัพพม่า จนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2532 KPLA ได้แยกตัวออกมา และทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่า
รัฐบาลทหารพม่าขณะนั้นตอบแทนโดยสถาปนาเขตพิเศษหมายเลข 1 ให้ชาวโกก้างได้ปกครองตนเอง โดยเป็นมีเมืองเล่าก์ก่าย ตรงข้ามกับจังหวัดหลินชาง มณฑลยูนนาน เป็นเมืองหลวง และมี MNDAA เป็นกองกำลังติดอาวุธ

ปี 2535 เกิดความแตกแยกใน MNDAA เมื่อ หยาง โมเหลี่ยง ผู้นำคนหนึ่งปฏิวัติยึดอำนาจจากเผิง จาเซิง ทำให้ เผิง จาเซิง ต้องหนีไปอยู่กับจายลืน ผู้บัญชาการกองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย (NDAA) ประธานเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ซึ่งเป็นลูกเขย

ปี 2537 เผิง จาเซิง โดยความช่วยเหลือจากกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) และหม่ง สาละ ผบ.MNDAA ประจำเมืองโก เมืองชายแดนรัฐชาน-จีน จังหวัดหมู่เจ้ ร่วมกันบุกยึดอำนาจคืนจาก หยาง โมเหลี่ยง ได้สำเร็จ

เขตปกครองตนเองโกก้าง ซึ่งมีเผิง จาเซิง เป็นผู้นำอยู่อย่างสงบร่มเย็นเป็นเวลากว่า 20 ปี พัฒนาจากเมืองกลางหุบเขาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น เล่าก์ก่ายซึ่งเป็นเมืองหลวงมีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด กระทั่งซูเปอร์มาร์เกต ถนนหนทางลาดยาง และมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยซื้อไฟฟ้ามาจากจีน


จุดเปลี่ยนของโกก้างเริ่มในปี 2552 เมื่อกองทัพพม่ากดดันให้ MNDAA แปรสภาพเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force : BGF) ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า แต่เผิง จาเซิง ปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่าง MNDAA กับกองทัพพม่า

อย่างไรก็ตาม MNDAA ขณะนั้นเองไม่มีเอกภาพ เกิดแม่ทัพรุ่นใหม่ขึ้นมา ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ ป๋าย โส่วเฉิน เป็นรองประธานเขตพิเศษหมายเลข 1 แม่ทัพรุ่นใหม่บางคนไม่พอใจเผิง จาเซิง ที่แบ่งปันอำนาจให้เฉพาะกลุ่มเครือญาติ เมื่อกองทัพพม่าต้องการให้ MNDAA แปรสภาพเป็น BGF แม่ทัพส่วนหนึ่งเห็นด้วย

ต่อมา ป๋าย โส่วเฉิน และคณะผู้บริหารระดับสูงของโกก้างอีกประมาณ 4-5 คน ถูก เผิง จาเซิง ปลด ในข้อหาเอนเอียงไปเข้ากับพม่า ป๋าย โส่วเฉิน จึงนำพรรคพวกมาสวามิภักดิ์กับกองทัพพม่า

8 สิงหาคม 2552 พล.ต.อ่อง ตาน ทุต แม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีฐานอยู่ที่เมืองล่าเสี้ยว นำกำลังกว่า 100 นาย บุกเข้าไปในเขตโกก้าง ตรวจค้นบ้าน เผิง จาเซิง มีการเผชิญหน้ากันระหว่าง MNDAA กับทหารพม่า แต่ยังไม่มีการปะทะ อย่างไรก็ตาม ชาวโกก้างจำนวนมากหวั่นเกรงสงคราม พากันอพยพข้ามไปอยู่ฝั่งจีน

วันที่ 20 สิงหาคม มีการออกหมายจับ เผิง จาเซิง และผู้นำระดับสูงโกก้างอีก 3 คน ทหารพม่าสนธิกำลังจากหลายหน่วยเคลื่อนพลเข้าล้อมพื้นที่โกก้าง ส่วนหนึ่งเคลื่อนพลเข้าไปในเมืองเล่าก์ก่าย แต่ยังไม่มีการปะทะ MNDAA ได้สั่งเตรียมพร้อมเต็มอัตราศึก พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลทหารพม่ายึดหลักสันติวิธี เพื่อไม่ให้นำสถานการณ์ไปสู่ความรุนแรง

26 สิงหาคม ทหารพม่ารุกเข้ายึดเมืองเล่าก์ก่าย MNDAA ซึ่งมีกำลังพลราว 1,000 นาย ยอมถอนกำลังออกไปรอบนอก เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะในตัวเมือง และเริ่มเปิดฉากสู้รบกับกองทัพพม่าในวันรุ่งขึ้น การสู้รบขยายลุกลามไปหลายจุด เกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย

29 สิงหาคม เผิง จาเซิง นำทหาร MNDAA ประมาณ 700 นาย ข้ามพรมแดนไปมอบตัวกับทางการจีน

30 สิงหาคม รัฐบาลทหารพม่า แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเขตพิเศษหมายเลข 1 ชุดใหม่ มีป๋าย โส่วเฉิน เป็นประธาน และแปรสภาพ MNDAA ที่เหลือเป็น BGF

แต่ทหาร MNDAA อีกส่วนหนึ่งยังคงต่อต้านกองทัพพม่าด้วยยุทธวิธีซุ่มโจมตี โดยมี เผิง ต้าซุน ลูกชายของ เผิง จาเซิง เป็นผู้นำ และไปตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองโก


อีก 5 ปีถัดมา เดือนธันวาคม 2557 เผิง จาเซิง ซึ่งขณะนั้นอายุ 86 ปี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับกับ “โฟนิกซ์เทเลวิชั่น” หรือ “iFeng” สถานีโทรทัศน์ของฮ่องกงว่า MNDAA ต้องการยึดพื้นที่ของตนคืนจากกองทัพพม่า พร้อมอ้างเงื่อนไขในข้อตกลงหยุดยิงที่เคยทำไว้เมื่อปี 2532 ว่า ไม่ต้องการแยกตัวออกจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า แต่ต้องการปกครองตนเองเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น

เผิง จาเซิง บอกว่า แม้ชาวโกก้างพูดภาษาจีน แต่พวกเขาคือ 1 ใน 135 ชาติพันธุ์อย่างเป็นทางการของพม่า

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 MNDAA รวบรวมกำลังพลได้ประมาณ 3,000 คน เปิดฉากโจมตีค่ายทหารพม่าใกล้เมืองเล่าก์ก่าย การสู้รบเป็นไปอย่างรุนแรง กองทัพพม่าส่งเครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์ขึ้นยิงถล่มฐานที่มั่นของ MNDAA มีภาพ-คลิปข่าวปรากฏทางสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ของจีนอย่างต่อเนื่อง

ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินในเขตพิเศษหมายเลข 1 เป็นเวลา 3 เดือน ถือเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งแรก ตั้งแต่เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554

การสู้รบสิ้นสุดลงในวันที่ 12 กุมภาพันธุ์ ทหารพม่าเสียชีวิต 47 นาย เป็นนายทหาร 5 นาย มีผู้บาดเจ็บกว่า 70 นาย ชาวโกก้างประมาณ 5 หมื่นคน ลี้ภัยข้ามไปอยู่ในฝั่งจีน


20 กุมภาพันธ์ 2561 สำนักข่าวหลายแห่งเคยมีรายงานว่า เผิง จาเซิง ได้เสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนครคุนหมิง มลฑลยูนนาน จนถึงวันนี้ ที่โฆษก MNDAA เพิ่งมีประกาศการเสียชีวิตจริงๆ ของเขาออกมา

ปัจจุบัน MNDAA ยังคงมีการสู้รบกับกองทัพพม่า โดยพื้นที่สู้รบส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองโก จังหวัดหมู่เจ้ เมืองหยอ จังหวัดล่าเสี้ยว ในภาคเหนือของรัฐชาน.

เผิง ต้าซุน ลูกชายของเผิง จาเซิง ผู้นำ MNDAA คนปัจจุบัน

พื้นที่และเมืองต่างๆ ของโกก้างในรัฐชานเหนือ


กำลังโหลดความคิดเห็น