เอเอฟพี - บริษัทคิริน (Kirin) ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องดื่มสัญชาติญี่ปุ่นระบุวันนี้ (14) ว่าบริษัทจะถอนตัวจากพม่า หลังความพยายามที่จะคลี่คลายการดำเนินงานของบริษัทออกจากบริษัท Myanmar Brewery Limited ที่เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทที่รัฐบาลทหารเป็นเจ้าของไม่ประสบความสำเร็จ หลังเกิดการรัฐประหารขึ้นในประเทศ
ด้วยแรงกดดันจากนานาชาติที่เพิ่มสูงขึ้นต่อกองทัพนับตั้งแต่การรัฐประหารโค่นล้มอองซานซูจี และดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างกว้างขวาง คิรินกลายเป็นบริษัทต่างชาติรายล่าสุดที่ประกาศถอนตัวออกจากพม่า
คิรินกล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังถกเถียงกันอยู่นานหลายเดือนหลังเกิดการรัฐประหารในเดือน ก.พ.2564 ที่ทำให้บริษัทวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชน และพยายามหาทางยุติการร่วมทุนในบริษัท Myanmar Brewery Limited
บริษัทได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากธุรกิจในพม่า เพื่อยุติการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท MEHPCL ที่เชื่อมโยงกับกองทัพ คิรินระบุในคำแถลง
บริษัท Myanmar Brewery ที่มีเครื่องดื่มหลากหลายรวมถึงเมียนมาร์เบียร์ (Myanmar Beer) ที่เป็นสินค้าเรือธงของบริษัท ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 80% ตามตัวเลขที่คิรินเผยแพร่ในปี 2561
ความพยายามของคิรินที่จะยุติการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท MEHPCL ไม่ประสบความสำเร็จ และผู้ผลิตเครื่องดื่มจากญี่ปุ่นรายนี้ได้กล่าวในเดือน พ.ย.ว่า บริษัทจะประกวดราคาเพื่อยุบโรงเบียร์ของพวกเขา ด้วยเกรงว่ากระบวนการชำระบัญชีจะไม่ยุติธรรม
คิรินกล่าวว่า บริษัทใช้ทุกมาตรการเพื่อหาหนทางให้บริษัทยังคงสามารถทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจและสังคมของพม่าได้ รวมถึงการยื่นอนุญาโตตุลาการในสิงคโปร์เพื่อยุติการร่วมทุน และดำเนินงานโดยไม่มีหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ แต่ในท้ายที่สุด บริษัทเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะยุติการร่วมทุนอย่างรวดเร็วในรูปแบบที่บริษัทต้องการ
“ดังนั้น คิรินโฮลดิ้งส์ได้เริ่มและกำลังดำเนินการหารือกับบริษัท MEHPCL เพื่อถอนตัวจากธุรกิจในพม่า โดยให้ความสำคัญกับการยุติการร่วมทุนโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นได้” คิรินระบุ
ด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยและแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน บริษัทต่างๆ ตั้งแต่ TotalEnergies ของฝรั่งเศส ไปจนถึง British American Tobacco และ Telenor ของนอร์เวย์ ต่างถอนตัวหรือประกาศว่าจะออกจากพม่า
หลังการรัฐประหารและการจับกุมผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศ คิรินกล่าวว่า บริษัทมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการกระทำของกองทัพ
ทั้งนี้ คิรินอยู่ภายใต้แรงกดดันมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร เนื่องจากความสัมพันธ์ของบริษัทกับกองทัพพม่า และบริษัทได้เริ่มดำเนินการสอบสวนหลังถูกกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่ว่าเงินที่ได้จากบริษัทร่วมทุนของพวกเขาถูกใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนการละเมิดสิทธิหรือไม่
ด้านโฆษกของ Justice For Myanmar ได้กล่าวยินดีกับการตัดสินใจของคิรินที่จะถอนตัวออกจากประเทศ และยกย่องบริษัทที่รับฟังเสียงของประชาชนชาวพม่า และภาคประชาสังคมของพม่า ญี่ปุ่น และทั่วโลก
“คิรินไม่ควรดำเนินธุรกิจกับกลุ่มบริษัทของทหารที่ทุจริตและโหดเหี้ยม” โฆษก Justice For Myanmar กล่าวเสริม โดยกล่าวหาว่าบริษัท Myanmar Brewery เป็นทุนสนับสนุนการก่ออาชญากรรมโหดร้ายและสร้างความร่ำรวยให้นายพลระดับสูง
กลุ่มนักเคลื่อนไหวยังเรียกร้องให้บริษัทญี่ปุ่นรายอื่นๆ ที่ทำธุรกิจกับกองทัพตัดความสัมพันธ์ และเรียกร้องให้คิรินหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินให้บริษัท MEHPCL หรือกองทัพในระหว่างกระบวนการถอนตัว
นักลงทุนหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในพม่าหลังกองทัพคลายอำนาจในปี 2554 เพื่อปูทางสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยและเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีประชากรมากกว่า 50 ล้านคน
พวกเขาทุ่มเม็ดเงินลงในโครงการโทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน การผลิตและการก่อสร้าง แต่การรัฐประหารโค่นระบอบประชาธิปไตยและทำให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานยังส่งผลกระทบกับประเทศด้วย โดยคิรินระบุในรายงานผลประกอบการที่เผยแพร่ในวันนี้ว่า ตลาดเบียร์ของพม่าหดตัวลงราว 20% ขณะที่ยอดขายของบริษัท Myanmar Brewery ลดลงราว 30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
รัฐบาลญี่ปุ่นยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจรายใหญ่แก่พม่า และโตเกียวมีความสัมพันธ์อันยาวนานกับกองทัพของประเทศ
หลังการรัฐประหาร ญี่ปุ่นประกาศว่าจะระงับความช่วยเหลือใหม่ แต่ไม่ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรรายบุคคลกับผู้บัญชาการทหารหรือตำรวจ เช่นเดียวกับบางประเทศ
อย่างไรก็ตาม โตเกียวได้เรียกร้องการปล่อยตัวซูจีและฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยอยู่หลายครั้ง และเมื่อปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของแดนปลาดิบกล่าวว่า การเจรจากับรัฐบาลทหารยังคงดำเนินอยู่ แต่เตือนว่าความช่วยเหลือทั้งหมดอาจถูกระงับหากการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงดำเนินต่อไป.