รอยเตอร์ - กัมพูชาที่รับตำแหน่งประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่อจากบรูไนในวันนี้ (28) ระบุว่า จะผลักดันผู้ปกครองทหารของพม่าให้เปิดการเจรจากับฝ่ายตรงข้าม
จากคำเตือนว่าพม่าอยู่บนปากเหวของสงครามกลางเมือง ปรัก สุคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชากล่าวว่ากัมพูชาจะแต่งตั้งทูตพิเศษประจำพม่าคนใหม่เพื่อเริ่มทำงานในต้นปีหน้าเมื่อประเทศกุมบังเหียนอาเซียน
ส่วนเอรีวัน ยูซอฟ ทูตคนปัจจุบันเป็นตัวแทนของบรูไน ประธานอาเซียนที่เพิ่งหมดวาระลง
“ในขณะที่เราทุกคนเคารพหลักการของการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศสมาชิก แต่สถานการณ์ในพม่ายังคงเป็นประเด็นที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง มันส่งผลกระทบเชิงลบต่อภูมิภาค ความน่าเชื่อถือของสมาคม และต่อประชาชนชาวพม่า พี่น้องของเรา” ปรัก สุคน กล่าวกับรอยเตอร์
ในการปฏิเสธอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาเซียนได้กีดกัน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้ปกครองทหารของพม่า จากการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นในสัปดาห์นี้
นายพลที่นำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่นำพาประเทศไปสู่ความโกลาหลวุ่นวายนองเลือด ถูกกีดกันเนื่องจากความล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามคำมั่นของเขาที่มีต่ออาเซียนในการยุติความรุนแรง เริ่มการเจรจา และเปิดรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และทูตอาเซียน
ปรัก สุคน กล่าวว่า กัมพูชาเห็นพ้องกับการห้าม พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เนื่องจากการปฏิเสธของรัฐบาลทหารที่จะอนุญาตให้เอรีวัน ยูซอฟ พบหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
แต่เขากล่าวว่า เป็นการไม่เหมาะสมที่จะพูดถึงการกีดกันนายพลต่อไปในช่วงเวลานี้ เนื่องจากสิ่งต่างๆ อาจจะมีการพัฒนา ซึ่งขึ้นอยู่กับพม่าเป็นส่วนใหญ่
นักการทูตระดับภูมิภาค 2 คน ที่ไม่ขอระบุชื่อกล่าวว่า อาเซียนจะใช้การกีดกัน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นเครื่องมือในการบังคับให้เขาอนุญาตให้ทูตอาเซียนพบกับฝ่ายตรงข้ามของกองทัพ
รัฐบาลทหารได้กล่าวไว้ว่าจะไม่อนุญาตให้มีการพบหารือกับอองซานซูจี ที่ถูกตั้งข้อหาหลายความผิด
นักการทูตกล่าวว่า บททดสอบการแก้ไขของอาเซียนในการกีดกันรัฐบาลทหารครั้งถัดไปคือการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียนในเดือนหน้า ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน คาดว่าจะเข้าร่วมด้วย
นักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่า อาเซียนมีความเป็นเอกภาพมากขึ้นในการจัดการกับพม่า และกัมพูชาได้ส่งสัญญาณถึงความตั้งใจที่จะผลักดันให้เกิดความก้าวหน้า
“ตอนนี้อาเซียนมีโมเมนตัมและรัฐบาลทหารอยู่ภายใต้แรงกดดัน อาเซียนควรตีเหล็กในขณะที่ยังร้อนอยู่” นักวิจัย กล่าว.