เอเอฟพี - รัฐบาลทหารพม่ากล่าวว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่ทูตพิเศษอาเซียนที่ได้รับมอบหมายให้อำนวยความสะดวกในการเจรจาในพม่าจะได้รับอนุญาตให้พบหารือกับอองซานซูจี ผู้นำที่ถูกปลดจากตำแหน่ง
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกกดดันจากทั่วโลกให้ช่วยแก้ไขวิกฤตในพม่า ที่เป็นประเทศสมาชิก และมีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงหลังการรัฐประหารมากกว่า 1,100 คน ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์
เอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไน ที่ได้รับเลือกให้เป็นทูตของกลุ่มในเดือน ส.ค. ได้เรียกร้องการเข้าถึงทุกฝ่ายอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเขาเดินทางเยือนพม่า
แต่โฆษกของรัฐบาลทหารพม่ากล่าวกับเอเอฟพีในวันพฤหัสฯ (30) ว่า “เป็นการยากที่จะอนุญาตให้พบหารือกับผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี”
“เราจะอนุญาตให้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานราชการ” ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหาร กล่าวเสริม โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าพม่าจะอนุญาตให้ทูตพิเศษผู้นี้เดินทางเยือนเมื่อใด
ซูจี วัย 76 ปี อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในหลายข้อหา ทั้งการละเมิดข้อจำกัดในการควบคุมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระหว่างการเลือกตั้งที่พรรคของเธอชนะอย่างถล่มทลายเมื่อปีก่อน การนำเข้าวิทยุสื่อสารวอล์กกี้ทอล์กกี้อย่างผิดกฎหมาย และการปลุกระดม เธออาจเผชิญกับโทษจำคุกหลายสิบปี หากถูกตัดสินว่ามีความผิดทุกข้อหา
ทนายความของเธอกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ซูจียังไม่ได้รับคำร้องขอพบหารือจากองค์กรท้องถิ่นหรือต่างประเทศแต่อย่างใด
“หากไม่มีการพบหารือกับซูจี ก็จะไม่มีผลลัพธ์ใดๆ พวกเขาจะสามารถก้าวไปอีกขั้นของการดำเนินการเจรจาได้ก็ต่อเมื่อได้รับฟังจากทั้งสองฝ่ายแล้ว” นักวิเคราะห์การเมือง กล่าวกับเอเอฟพี
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งและยกเลิกภาวะฉุกเฉินในเดือน ส.ค.2566 ซึ่งขยายจากกรอบเวลาเดิมที่ให้ไว้ไม่นานหลังการรัฐประหาร.