xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานพม่าเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ เฉพาะย่างกุ้งโรงงานปิดไปแล้ว 73 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ย่านอุตสาหกรรมหล่ายต่าหย่า กรุงย่างกุ้ง
MGR Online - พม่ากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง คนงานนับหมื่นต้องตกงาน เฉพาะเขตอุตสาหกรรมในหล่ายต่าหย่าเพียงย่านเดียว โรงงานปิดไปแล้ว 73 แห่ง ด้านเงินจั๊ตยังทำจุดต่ำสุดใหม่ แม้ธนาคารกลางระบายดอลลาร์ออกมาแล้ว 5 ครั้ง รวม 63 ล้านเหรียญ ในเวลาเพียง 3 สัปดาห์

เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา บริษัท เมียนมา ยูนีก (Myanmar Unique) โรงงานสิ่งทอ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมฉ่วย ลินปาน ย่านหล่ายต่าหย่า กรุงย่างกุ้ง ได้ประกาศปิดโรงงานชั่วคราว เนื่องจากไม่ได้รับออเดอร์สินค้ามาระยะหนึ่งแล้ว ส่งผลต่อแรงงานนับพันคนต้องตกงานไปโดยปริยาย

โรงงานเมียนมา ยูนีก เป็นของนักลงทุนชาวพม่า เปิดกิจการอยู่ในย่านหล่ายต่าหย่ามาแล้ว 5 ปี เริ่มเผชิญกับสถานการณ์ออเดอร์สินค้าที่ลดลงหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว กระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ต่อด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงย่างกุ้ง จากสถานการณ์การเมืองที่ขาดเสถียรภาพ ออเดอร์สินค้าที่เคยส่งให้โรงงานเมียนมา ยูนีก หายไปเลย

โรงงานสิ่งทอเมียนมา ยูนีก ที่เพิ่งปิดตัวลงเมื่อวันที่ 21 กันยายน (ภาพจากเพจ HTY Information)
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน บริษัทเฮงเหมา (เมียนมา) สิ่งทอ ของนักธุรกิจชาวจีน ซึ่งตั้งโรงงานอยู่ในเขตอุตสาหกรรมฉ่วย ตานลวิน ย่านหล่ายต่าหย่า เช่นกัน ได้ประกาศปิดกิจการผ่านเพจเฟซบุ๊กของบริษัท ด้วยเหตุผลที่ไม่มีออเดอร์สินค้าเข้ามา ส่งผลให้แรงงานจำนวนกว่า 1,000 คน ต้องตกงานไปโดยทันที

เมียนมา ยูนีก และเฮงเหมา (เมียนมา) เป็นเพียง 2 ตัวอย่างของโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในย่านหล่ายต่าหย่าที่ต้องปิดตัวลง อันเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากวิกฤตการเมือง

ย่านหล่ายต่าหย่า เป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรม 3 แห่ง ประกอบด้วย เขตอุตสาหกรรมหล่ายต่าหย่า เขตอุตสาหกรรมฉ่วย ตานลวิน และเขตอุตสาหกรรมฉ่วย ลินปาน โรงงานที่ตั้งอยู่ใน 3 เขตอุตสาหกรรมนี้ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานสิ่งทอ ตัดเย็บ และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งต้องอาศัยแรงงานคนเป็นจำนวนมาก

Eleven Media Group มีรายงานเมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) โดยได้สัมภาษณ์ผู้บริหารเขตอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งในย่านหล่ายต่าหย่า พบว่านับแต่เกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมอย่างน้อย 73 แห่ง ที่ได้ปิดตัวลงไปแล้ว

โดยในเขตอุตสาหกรรมหล่ายต่าหย่า มีโรงงาน 29 แห่ง ที่แจ้งมายังฝ่ายบริหารเขตอุตสาหกรรมฯ ว่าขอปิดโรงงานชั่วคราว และได้จ่ายเงินชดเชยให้คนงานครบถ้วนตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว

คนงานของโรงงานสิ่งทอเฮงเหมา (เมียนมา) เดินทางไปทำงานตอนเช้าของวันที่ 20 มิถุนายน แต่ปรากฏว่าโรงงานได้ปิดไปแล้ว
ส่วนในเขตอุตสาหกรรมฉ่วย ตานลวิน มีโรงงาน 9 แห่ง ที่ปิดตัวลง บางแห่งแจ้งมาว่าขอปิดโรงงานชั่วคราว ขณะที่อีกบางแห่งแจ้งปิดกิจการถาวร และได้ย้ายเงินลงทุนไปยังที่อื่น

แรงงานอย่างน้อย 3,000 คน ในเขตอุตสาหกรรมฉ่วย ตานลวิน ได้รับผลกระทบต้องตกงานจากการปิดตัวลงของโรงงานทั้ง 9 แห่ง

ในเขตอุตสาหกรรมฉ่วย ลินปาน มีโรงงาน 35 แห่งปิดตัวลงไปแล้ว ในนี้ 30 แห่งแจ้งว่าเป็นการปิดโรงงานชั่วคราว ส่วนอีก 5 แห่ง แจ้งว่าขอปิดกิจการถาวร และในจำนวน 35 โรงงาน มี 10 แห่ง อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำนวนแรงงานที่ต้องตกงานจากการปิดตัวของโรงงานทั้ง 35 แห่ง มีประมาณ 10,000 คน


สำนักข่าว Khit Thit Media รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กันยายน ค่าเงินจั๊ตยังคงอ่อนตัวลงทำสถิติต่ำสุดใหม่ ที่ 2,300 จั๊ตต่อ 1 ดอลลาร์ จากเมื่อวันศุกร์ที่อ่อนลงไปต่ำสุดที่ 2,165 จั๊ต

ธนาคารกลางเมียนมา (Central Bank of Myanmar : CBM) ยังคงแทรกแซงโดยใช้วิธีระบายเงินดอลลาร์เข้ามาในตลาด เพื่อหวังเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์และดึงเงินจั๊ตให้แข็งค่าขึ้น โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 27 กันยายน CBM ได้ขายดอลลาร์ออกมาอีก 15 ล้านดอลลาร์

นับแต่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ประกาศทำสงครามกับรัฐบาลทหารเมื่อวันที่ 7 กันยายนเป็นต้นมา CBM ได้ขายดอลลาร์เข้ามาในตลาดแล้วถึง 5 ครั้งด้วยกัน รวมเป็นเงิน 63 ล้านดอลลาร์ และนับแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์จนถึงวันที่ 27 กันยายน CBM ได้ขายดอลลาร์ออกมาแทบทุกเดือน (เว้นเดือนมีนาคมเดือนเดียว) คิดเป็นยอดรวมเงินดอลลาร์ที่ CBM ขายออกมาแล้วทั้งสิ้น 184.8 ล้านดอลลาร์.

ประกาศของธนาคารกลางพม่า ขายเงินดอลลาร์ออกมาอีก 15 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 27 กันยายน


กำลังโหลดความคิดเห็น