xs
xsm
sm
md
lg

ทีมนักวิจัยกัมพูชาลงพื้นที่เก็บตัวอย่างค้างคาวหาที่มาเชื้อไวรัสโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ทีมนักวิจัยกำลังเก็บรวบรวมตัวอย่างจากค้างคาวในพื้นที่ภาคเหนือของกัมพูชาเพื่อทำความเข้าใจการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยกลับไปยังภูมิภาคที่พบเชื้อไวรัสที่คล้ายกันมากในสัตว์ชนิดนี้เมื่อ 10 ปีก่อน

เมื่อปี 2553 นักวิจัยได้เก็บ 2 ตัวอย่างจากค้างคาวมงกุฎ ในจ.สตึงเตรง ใกล้กับประเทศลาว และเก็บรักษาไว้ที่ตู้แช่แข็งของสถาบันปาสเตอร์ ดู กอมบอดจ์ หรือสถาบันปาสเตอร์แห่งกัมพูชา (IPC) ในกรุงพนมเปญ และผลการทดสอบตัวอย่างเหล่านั้นเมื่อปีก่อนได้เผยให้เห็นถึงความใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปกว่า 4.6 ล้านคน

ทีมวิจัยของ IPC ได้รวบรวมตัวอย่างจากค้างคาวและฐานข้อมูลสายพันธุ์ เพศ อายุ และรายละเอียดอื่นๆ ของค้างคาวเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งนอกจากนี้ ยังมีการวิจัยในลักษณะเดียวกันดำเนินการอยู่ที่ฟิลิปปินส์

“เราหวังว่าผลจากการศึกษานี้จะสามารถช่วยให้โลกเข้าใจโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น” ผู้ประสานงานภาคสนาม กล่าวกับรอยเตอร์ ขณะจับตาข่ายดักค้างคาว






สิ่งมีชีวิตที่ไวรัสอาศัยอยู่ เช่น ค้างคาว มักไม่แสดงอาการของโรค แต่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้สามารถก่อความเสียหายได้อย่างมากมายหากส่งผ่านเชื้อไวรัสไปยังมนุษย์หรือสัตว์อื่นๆ

หัวหน้าฝ่ายไวรัสวิทยาของ IPC กล่าวว่าสถาบันของเขาลงพื้นที่แล้ว 4 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และหวังที่จะพบเบาะแสเกี่ยวกับต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสที่มีค้างคาวเป็นพาหะ

“เราต้องการค้นหาว่าไวรัสยังคงอยู่ที่นั่นหรือไม่และเพื่อให้ทราบว่าไวรัสมีวิวัฒนาการอย่างไร” หัวหน้าฝ่ายไวรัสวิทยาของ IPC กล่าวกับรอยเตอร์

เชื้อไวรัสอันตรายร้ายแรงที่มาจากค้างคาว ยังประกอบด้วย อีโบลาและไวรัสโคโรนาอื่นๆ เช่น โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส (SARS) และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (MERS)

แต่หัวหน้าฝ่ายไวรัสวิทยาของ IPC กล่าวว่ามนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบต่อหายนะที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 เนื่องจากการรบกวนและการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

“หากเราพยายามที่จะเข้าใกล้สัตว์ป่า โอกาสที่จะได้รับเชื้อไวรัสที่สัตว์ป่าเป็นพาหะก็จะมากกว่าปกติ โอกาสที่ไวรัสกลายพันธุ์แพร่สู่มนุษย์ก็จะมากขึ้นเช่นกัน” หัวหน้าฝ่ายไวรัสวิทยาของ IPC กล่าว.








กำลังโหลดความคิดเห็น