xs
xsm
sm
md
lg

ครอบครัวนักข่าวสหรัฐฯ วอนทางการพม่าปล่อยตัว หลังถูกจับครบ 100 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แดนนี เฟนสเตอร์ นักข่าวชาวอเมริกัน ที่ทำงานให้กับสำนักข่าวฟรอนเทียร์ เมียนมาร์ ถูกจับกุมตัวในย่างกุ้ง.
เอเอฟพี - ครอบครัวของแดนนี เฟนสเตอร์ นักข่าวสหรัฐฯ ที่ถูกรัฐบาลทหารพม่าจับกุมตัว ได้เรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยตัวเขาในวันนี้ (1) หลังถูกคุมขังเป็นวันที่ 100 และเชื่อว่าเฟนสเตอร์น่าจะติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างถูกคุมขัง

โรส เฟนสเตอร์ แม่ของแดนนีกล่าว แดนนีดูเหมือนมีอาการจากภาวะสมองล้าและสูญเสียการรับรสและดมกลิ่น ระหว่างการติดต่อทางโทรศัพท์ครั้งสุดท้ายของเขากับสมาชิกในครอบครัวเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเขายังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ

แม่ของแดนนี เฟนสเตอร์ กล่าวว่า การสื่อสารในพม่ามีจำกัด แม้ว่าสถานทูตสหรัฐฯ และหน่วยงานต่างๆ พยายามที่จะให้เขาได้รับเสรีภาพก็ตาม

“มันเป็น 100 วันที่ยากลำบาก ยากที่จะเชื่อว่าเป็น 100 วัน แต่เรารู้สึกขอบคุณสำหรับการสนับสนุนจากชุมชนของเรา” โรส เฟนสเตอร์ กล่าว

แดนนี เฟนสเตอร์ บรรณาธิการบริหารของสำนักข่าวฟรอนเทียร์ เมียนมาร์ (Frontier Myanmar) ถูกสอบสวนภายใต้กฎหมายที่ทำให้ผู้เห็นต่างเป็นอาชญากร ที่มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี

บัดดี้ เฟนสเตอร์ พ่อของแดนนีกล่าวว่า เขามองแง่บวกถึงโอกาสที่ลูกชายของเขาจะได้รับการปล่อยตัว

“พวกเขาไม่ได้ตั้งข้อหา ผมคิดว่านั่นเป็นอะไรบางอย่าง” บัดดี้ เฟนสเตอร์ กล่าว

ไบรอัน เฟนสเตอร์ พี่ชายของแดนนีกล่าวเสริมว่า แดนนีไม่ใช่นักเคลื่อนไหวหรือกระทั่งนักข่าวที่ออกไปรายงาน แต่เป็นคนที่นั่งอยู่หลังโต๊ะ

จากการติดต่อครั้งล่าสุด ไบรอัน เฟนสเตอร์ กล่าวว่า “แม้น้ำเสียงของเขาดูเข้มแข็งและยังมีอารมณ์ขันที่น่าทึ่ง แต่ก็สามารถรับรู้ได้ถึงความวิตกกังวลและความไม่พอใจในน้ำเสียงของเขาในช่วงเวลาเดียวกัน”

การร้องขอของครอบครัวเกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนที่การพิจารณาคดีของเฟนสเตอร์จะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 ก.ย. ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงขั้นตอนถัดไป

แดนนี เฟนสเตอร์ อายุ 37 ปี ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่สนามบินนานาชาติในนครย่างกุ้ง ขณะที่เขาพยายามขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางออกนอกประเทศ เขาทำงานให้สำนักข่าวฟรอนเทียร์มาประมาณ 1 ปี และกำลังมุ่งหน้ากลับบ้านไปหาครอบครัวของเขา

กระทรวงการต่างประเทศระบุเมื่อเดือนก่อนว่าสถานทูตสหรัฐฯ ถูกปฏิเสธคำขอเข้าพบเฟนสเตอร์

“ไม่มีการให้เหตุผลในการยื่นฟ้องเขา” คำแถลงระบุ

พม่าอยู่ในสถานการณ์โกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่ทหารเข้ายึดอำนาจในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่เผชิญกับการชุมนุมประท้วงเกือบทุกวันและการอารยะขัดขืนครั้งใหญ่ พลเรือนมากกว่า 850 คน ถูกสังหารทั่วประเทศในการปราบปรามของทหาร ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น

สื่อถูกปราบปรามเนื่องจากรัฐบาลทหารพยายามที่จะควบคุมการไหลของข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวด ควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเพิกถอนใบอนุญาตของสื่อท้องถิ่น

หลังจากการรัฐประหารได้ไม่นาน รัฐบาลทหารได้ปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญาที่รวมถึงการกำหนดให้การเผยแพร่ข่าวปลอมเป็นอาชญากรรม.

แดนนี เฟนสเตอร์ (ขวา) ถ่ายรูปร่วมกับพ่อและแม่ของเขา.
กำลังโหลดความคิดเห็น