xs
xsm
sm
md
lg

สหประชาชาติติงความเคลื่อนไหวรัฐบาลทหารพม่าออกนอกเส้นทางประชาธิปไตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - สหประชาชาติระบุว่า การเลื่อนเลือกตั้งและขยายเวลาการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินของทหารพม่าเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ผิดไปจากเสียงเรียกร้องของนานาชาติให้ประเทศฟื้นฟูประชาธิปไตย

6 เดือนหลังยึดอำนาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารของพม่า ประกาศตนเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันอาทิตย์ (1) และกล่าวว่าเขาจะเป็นผู้นำในช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะฉุกเฉินซึ่งขยายเวลาออกไปจนกว่าการเลือกตั้งจะจัดขึ้นอีกประมาณ 2 ปี

“มันไม่ได้นำพาเราไปในทิศทางที่ถูกต้อง” โฆษกสหประชาชาติกล่าวเมื่อถูกถามถึงประกาศของกองทัพพม่า

“มันทำให้เราห่างไกลออกไปจากสิ่งที่เราเรียกร้อง ที่ประเทศสมาชิกเรียกร้อง ซึ่งก็คือการหวนคืนสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย การปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด การยุติความรุนแรงและการปราบปราม” โฆษกสหประชาชาติ กล่าว

การประกาศภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้นเมื่อกองกำลังทหารเข้าโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. การกระทำที่เหล่านายพลระบุว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การยึดอำนาจของทหารเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนที่เป็นผลให้เกิดการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยกองกำลังความมั่นคงที่มักยิงกระสุนจริงเข้าใส่ฝูงชน

รัฐบาลทหารประกาศยกเลิกผลการเลือกตั้งเดือน พ.ย.2563 เมื่อวันที่ 27 ก.ค. และแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่เพื่อดูแลการเลือกตั้ง กองทัพอ้างว่าชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของซูจีเกิดขึ้นจากการโกงผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ

กรอบการทำงานที่เผยแพร่โดยกองทัพหลังเข้ายึดอำนาจได้เรียกร้องการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี

แต่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า ภาวะฉุกเฉินจะบรรลุวัตถุประสงค์ภายในเดือน ส.ค.2566 และให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปแบบหลายพรรคโดยไม่ให้เกิดความล้มเหลว

ฝ่ายต่อต้านกองทัพขยายตัวขึ้นทั้งในเขตเมืองและชนบท และตั้งแต่การรัฐประหารจนถึงวันอาทิตย์ มีประชาชนถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคงอย่างน้อย 939 คน ตามการระบุของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง

โฆษกสหประชาชาติเรียกช่วงเวลา 6 เดือนหลังการยึดอำนาจว่าเป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลม และเลวร้ายลงเนื่องจากผลของการระบาดของโควิด-19

“วิกฤตที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมต่อผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงการศึกษา สุขภาพ และการต่อสู้กับโควิด-19 นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานของชาวพม่าในการแสดงออกและการมีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของพวกเขา สำหรับเรา การตอบสนองของนานานาชาติที่เป็นหนึ่งเดียวยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด” โฆษกสหประชาชาติ กล่าว

ความเคลื่อนไหวของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการเป็นผู้แทนการเจรจาหารือระหว่างรัฐบาลทหารและฝ่ายตรงข้ามได้หยุดชะงักลง หลังกลุ่มบรรลุข้อตกลงจากการประชุมสุดยอดเมื่อเดือน เม.ย. ในกรุงจาการ์ตา ที่เรียกร้องการยุติความรุนแรง การเจรจาอย่างสร้างสรรค์ การแต่งตั้งทูตพิเศษอาเซียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการเยือนพม่าของผู้ไกล่เกลี่ย

อย่างไรก็ตาม การประชุมเสมือนในสัปดาห์นี้ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่มีบรูไนเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานของกลุ่ม คาดว่ากลุ่มจะหารือเกี่ยวกับการคัดเลือกทูตพิเศษอาเซียน.
กำลังโหลดความคิดเห็น