xs
xsm
sm
md
lg

ภาพสลด! ขบวนผู้อพยพในรัฐชานหาที่หลบภัยหลัง "ทัพไทใหญ่" รบกันเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขบวนผู้อพยพหนีภัยจากการรบกันเองของ 2 กองทัพไทใหญ่ในรัฐชาน
MGR Online - น่าเศร้าภาพชุดขบวนผู้อพยพในภาคเหนือของรัฐชานถูกเผยแพร่ทั่วสังคมออนไลน์ พวกเขาไม่ได้หนีภัยสงครามระหว่างทหารไทใหญ่กับพม่า แต่หนีการสู้รบระหว่างกองทัพไทใหญ่ด้วยกันเอง

วานนี้ (1 ก.ค.) สังคมออนไลน์ทั้งภาษาไทใหญ่และภาษาพม่า ต่างพร้อมกันเผยแพร่ภาพชุดรวมกว่า 10 ภาพ เป็นภาพของผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ ต่างพากันเดินทางด้วยพาหนะหลากหลายชนิด หลายคนเดินเท้า เรียงแถวเป็นขบวน

คำบรรยายเขียนว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้าน คือ บ้านเต้าะส่าง บ้านป่าคา และบ้านใหม่ ตำบลเต้าะส่าง อำเภอจ๊อกแม จังหวัดจ๊อกแม ที่เร่งรีบขนข้าวของเท่าที่หยิบฉวยได้ ทิ้งบ้านเรือนไร่นาออกจากบ้านตั้งแต่ตี 5 เพื่อเดินทางไปหลบภัยที่บ้านปึ้น ตำบลเมืองเง่าะ ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงใต้ในจังหวัดจ๊อกแมเหมือนกัน

พวกเขาจำเป็นต้องหนี เพราะหลายวันมานี้ ในเต้าะส่างเกิดการสู้รบกันอย่างหนัก มีการยิงอาวุธหนักใส่กัน ระเบิดหลายลูกตกใกล้หมู่บ้าน หลายลูกตกใส่ไร่นาทุกวัน จนพวกเขาไม่สามารถอยู่ได้

สงครามที่กำลังเกิดอยู่ที่ตำบลเต้าะส่าง ไม่ใช่การสู้รบระหว่างทหารพม่ากับทหารไทใหญ่เหมือนในรัฐชาติพันธุ์อื่น แต่เป็นการต่อสู้ของทหารไทใหญ่ด้วยกันเอง ระหว่างกองทัพสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS) กับกองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP) โดยมีทหารจากกองทัพตะอ้าง(TNLA) เป็นกำลังเสริม ช่วย SSPP โจมตี RCSS


ก่อนเกิดรัฐประหารในเมียนมา RCSS กับ SSPP มักมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะแม้เป็นทหารไทใหญ่เหมือนกัน แต่ประวัติการก่อตั้งและอุดมการณ์ของ 2 ฝ่ายไม่เหมือนกัน คณะสงฆ์ กลุ่มเยาวชน และประชาคมชาวไทใหญ่ทุกสาขาอาชีพต่างพยายามเรียกร้องให้ทั้ง 2 กองทัพหันหน้ามาสามัคคีกัน แต่ 2 ฝ่ายก็สงบศึกกันได้เพียงชั่วคราว สักพักก็รบกันอีก

SSPP สวมเครื่องแบบสีเขียวเข้ม มีฐานบัญชาการใหญ่อยู่ที่บ้านไฮ อำเภอเกซี จังหวัดดอยแหลม มีเจ้าป่างฟ้าเป็นผู้นำ มีพื้นที่ปฏิบัติการอยู่ในภาคเหนือของรัฐชาน ก่อตั้งเมื่อปี 2514 เคยเป็นกองกำลังส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน และแยกตัวออกมาเมื่อ CPB สลายตัวในปี 2532 ทำให้ SSPP มีความสัมพันธ์กับกองกำลังชาติพันธุ์อื่นที่เคยร่วมอยู่ใน CPB ด้วยกัน เช่น กองทัพคะฉิ่น (KIA) กองทัพว้า (UWSA) กองทัพโกก้าง (MNDAA) และกองทัพเมืองลา (NDAA)

ส่วน RCSS สวมเครื่องแบบลายพราง มี พล.อ.เจ้ายอดศึก เป็นประธาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 หลังจากแยกตัวออกมาจากกองทัพเมืองไต (MTA) มีฐานบัญชาการใหญ่อยู่บนดอยไตแลง อำเภอเมืองปั่น จังหวัดลางเคอ ตรงข้ามกับอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่รัฐชานใต้


หลังเซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2558 กองกำลัง RCSS ได้ขึ้นมาเคลื่อนไหว สร้างฐานที่มั่นอยู่ในหลายพื้นที่ในรัฐชานภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลประโยชน์จากธุรกิจสีเทาของหลายกลุ่มกองกำลัง โดยเฉพาะการค้ายาเสพติด ปฏิบัติการของ RCSS ได้ไปขัดผลประโยชน์ของหลายกลุ่ม จึงตกเป็นเป้าโจมตีเพื่อกดดันให้ RCSS ย้ายทหารออกนอกพื้นที่

หลังเกิดรัฐประหารขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ การสู้รบระหว่าง SSPP และ RCSS เกิดถี่ขึ้น และรุนแรงมากขึ้น พื้นที่สู้รบหลักอยู่ในจังหวัดจ๊อกแมและดอยแหลม ประเมินกันว่า การสู้รบของ SSPP กับ RCSS เป็นความต้องการของกองทัพพม่าที่สร้างสงครามตัวแทนขึ้นในรัฐชาน โดยให้กองทัพไทใหญ่รบกันเอง เพื่อที่กองทัพพม่าจะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากร


ภาพขบวนผู้อพยพของชาวไทใหญ่จากตำบลเต้าะส่าง เผยแพร่ขึ้นในวันเดียวกับที่มีการประชุมคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (Peace Process Steering Team : PPST) ทางออนไลน์ ครั้งที่ 17/2021(1-2 ก.ค.2564)
PPST มี พล.อ.เจ้ายอดศึก เป็นรักษาการประธาน สมาชิกประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่าไปแล้ว 10 กลุ่ม ได้แก่

1.RCSS
2.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)
3.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO)
4.กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย (DKBA)
5.แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF)
6.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF)
7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP)
8.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC)
9.พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP)
10.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)

ก่อนหน้าการประชุมครั้งนี้เพียง 2 วัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พล.อ.เจ้ายอดศึก ได้ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นรักษาการประธาน PPST โดยให้เหตุผลว่า ต้องการให้เวลาเต็มที่กับการบริหาร RCSS ซึ่งมีภารกิจจำเป็นเฉพาะหน้าอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าสมาชิก PPST ได้ขอร้อง พล.อ.เจ้ายอดศึก ให้คงรักษาการประธานไปก่อนจนถึงสิ้นปีนี้

PPST ตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 โดยมีซอ มูตู เซโพ ประธาน KNU เป็นประธานคนแรก แต่หลังดำรงตำแหน่งได้ 1 ปี ก็มอบตำแหน่งประธานต่อให้ พล.อ.เจ้ายอดศึก รักษาการอยู่มาจนถึงทุกวันนี้.












กำลังโหลดความคิดเห็น