เอเอฟพี - เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ ที่ปฏิเสธจะออกจากตำแหน่งแม้ถูกไล่ออกหลังการรัฐประหารในเดือน ก.พ. ได้เรียกร้องมาตรการร่วมกันที่มีประสิทธิภาพต่อรัฐบาลทหาร ก่อนการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงที่คาดว่าจะหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว
“เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องดำเนินมาตรการร่วมกันที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการเกิดขึ้นของวิกฤตด้านมนุษยธรรม” จ่อ โม ตุน เขียนจดหมายถึงคณะมนตรีความมั่นคงลงวันที่ 28 พ.ค. และเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (14)
“มาตรการที่แข็งกร้าว เด็ดขาด และเป็นหนึ่งเดียวเป็นสิ่งจำเป็นและต้องดำเนินการในทันที การขาดการกระทำดังกล่าวของประชาคมระหว่างประเทศจะยิ่งส่งเสริมให้ทหารกระทำสิ่งที่ไร้มนุษยธรรมและการกระทำที่โหดร้ายต่อพลเรือนต่อไป และจะยิ่งทำให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์ในพม่าเสียชีวิตมากขึ้น” จ่อ โม ตุน ระบุ
จ่อ โม ตุน ปฏิเสธการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. และไม่สนใจคำกล่าวอ้างของรัฐบาลทหารที่ว่าเขาไม่ได้เป็นตัวแทนของพม่าอีกต่อไป ขณะที่สหประชาชาติยังคงถือว่าเขาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม
เขากล่าวว่า การขาดปฏิกิริยาระหว่างประเทศที่มีพลังตอบโต้การรัฐประหาร ซึ่งขับไล่อองซานซูจี ผู้นำพลเรือน เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่การปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร
“หากประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งสหประชาชาติดำเนินการอย่างเด็ดขาดและทันท่วงทีต่อทหาร มันจะช่วยป้องกันการสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์มากกว่า 800 คน” จ่อ โม ตุน ระบุ
จีนมักชะลอการหารือของคณะมนตรีความมั่นคงเกี่ยวกับพม่า แต่การประชุมแบบปิดประตูมีกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์ (18) เพื่อหารือเกี่ยวกับความพยายามของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการไกล่เกลี่ย นักการทูตระบุ
คาดว่าคณะมนตรีจะรับฟังการนำเสนอของเอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไน ที่เป็นหนึ่งในผู้แทนอาเซียน 2 คน ที่ได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อต้นเดือน
แต่ทั้งคู่ไม่สามารถพบหารือกับสมาชิกของรัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นจากอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่ส่วนใหญ่มาจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจี
อาเซียนเป็นผู้นำความพยายามทางการทูตที่จะแก้ไขวิกฤตในพม่า แต่กลุ่มไม่มีชื่อเสียงในด้านอิทธิพลทางการทูต และผู้สังเกตการณ์ได้ตั้งคำถามว่า กลุ่มจะมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ในพม่าได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงครั้งล่าสุดว่าด้วยพม่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ในถ้อยแถลงที่เป็นเอกฉันท์ สมาชิก 15 ประเทศของคณะได้เรียกร้องการยุติความรุนแรงในพม่าตามที่ระบุในแผนของอาเซียน แผนที่ยังเรียกร้องให้แต่งตั้งผู้แทนอาเซียนที่มีหน้าที่จัดการกับวิกฤต แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดถูกเสนอชื่อเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว
และในวันศุกร์ (18) คณะมนตรีคาดว่าจะได้รับฟังรายงานจากคริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษว่าด้วยพม่าของสหประชาชาติ ที่เพิ่งเดินทางกลับจากการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในภูมิภาค แต่ไม่ได้เยือนพม่า เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหาร.