xs
xsm
sm
md
lg

ลบชื่อ “นายพลอองซาน” จากสะพานสาละวิน กองทัพพม่าล้างปมขัดแย้งในใจชาวมอญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คนงานกำลังติดตั้งตัวอักษรชื่อสะพานใหม่ที่กลับมาใช้ชื่อเดิมคือ “สาละวิน (ชองโซน)” และเปลี่ยนสีพื้นป้ายเป็นสีเขียว (ภาพจาก Mon State News)
MGR Online - กองทัพพม่าล้างปมขัดแย้งในใจชาวมอญ เปลี่ยนชื่อสะพานข้ามแม่น้ำสาละวิน "เชื่อมเมาะละแหม่ง-ชองโซน" นำชื่อเดิมกลับมาใช้ใหม่ หลังรัฐบาล NLD อาศัยเสียงข้างมากในสภา ตั้งเป็นชื่อสะพาน “นายพลอองซาน” มา 4 ปี โดยไม่ฟังเสียงค้านของคนทั้งรัฐมอญ

ตั้งแต่เช้าวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม 2564 ประชาชนที่ใช้สะพาน “นายพลอองซาน (บะลูจูน)” ในรัฐมอญ ต่างเห็นรถกระเช้าพร้อมคนงานอย่างน้อย 4 คน กำลังเร่งมือเปลี่ยนตัวอักษรบนป้ายชื่อสะพาน เป็นชื่อ “สาละวิน (ชองโซน)” ซึ่งเป็นชื่อเดิม เพื่อให้เสร็จทันในวันรุ่งขึ้น (31 พ.ค.) หลังชื่อสะพานแห่งนี้ได้สร้างปมขัดแย้งทางชาติพันธุ์ให้ค้างคาอยู่ในใจของชาวมอญมานานกว่า 4 ปี

สะพานสาละวิน (ชองโซน) ถูกสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามแม่น้ำสาละวิน ระหว่างเมืองเมาะละแหม่งกับอำเภอชองโซน ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่เกาะขนาดใหญ่ ใกล้เคียงกับเกาะสิงคโปร์ โดยคำว่า “บะลูจูน” มีความหมายว่า “เกาะยักษ์”

ที่ตั้งสะพาน “นายพลอองซาน (บะลูจูน)” ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เมื่อวานนี้
รัฐบาลพม่าสมัยประธานาธิบดีเต็งเส่งเริ่มสร้างสะพานสาละวิน (ชองโซน) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นสะพานคอนกรีต ยาว 1,590 เมตร กว้าง 8.5 เมตร 2 เลนไปกลับ ใช้งบประมาณก่อสร้าง 59,800 ล้านจั๊ต โดยสะพานสาละวิน (ชองโซน) สร้างเสร็จในเดือนเมษายน 2560 ซึ่งได้เปลี่ยนมาสู่ยุคของรัฐบาลพรรค NLD ที่ชนะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2558 มาด้วยคะแนนเสียงเกินครึ่ง

เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ก่อนที่สะพานสาละวิน (ชองโซน) จะสร้างเสร็จ ส.ส. NLD ได้เสนอญัตติด่วนต่อสภาผู้แทนราษฎร (Pyithu Hluttaw) ขอเปลี่ยนชื่อสะพานแห่งนี้เป็นสะพาน “นายพลอองซาน (บะลูจูน)” เพื่อเป็นเกียรติแก่นายพลอองซาน บิดาของอองซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD ญัตตินี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ที่มีพรรค NLD ครองเสียงส่วนใหญ่

ญัตตินี้ได้กลายเป็นปมขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์มอญและพม่า เพราะถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากชาวมอญ ซึ่งต้องการชื่อสะพานที่สื่อถึงอัตลักษณ์ความเป็นมอญ ไม่ใช่ชื่อของนายพลอองซานที่เป็นวีรชนของชาวพม่า ชาวมอญมองว่า พรรค NLD ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อสะพานโดยไม่เคารพสิทธิของชาติพันธุ์เจ้าของพื้นที่ อาศัยเสียงส่วนมากในสภาฯ ที่จะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ

ป้ายชื่อเดิมสะพาน “นายพลอองซาน (บะลูจูน)” บนพื้นที่แดงของพรรค NLD
เดือนมีนาคม 2560 มีการตั้ง “คณะกรรมการเคลื่อนไหวสาธารณะเพื่อสะพานสาละวิน (ชองโซน)” หรือ The Committee of Public Movement for Thanlwin Bridge (Chaung Zone) ขึ้น และสามารถล่ารายชื่อประชาชนทั่วรัฐมอญมาได้ 150,000 รายชื่อ

24 เมษายน คณะกรรมการเคลื่อนไหวสาธารณะ ทำหนังสือพร้อมแนบรายชื่อ 1.5 แสนชื่อ เรียกร้องรัฐบาลพรรค NLD ให้เคารพสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และฟังเสียงของประชาชน โดยให้เปลี่ยนชื่อสะพานกลับมาใช้ชื่อ “สาละวิน (ชองโซน)” ตามเดิม สำเนาของหนังสือได้ถูกส่งไปถึงสถานทูตทุกแห่งในพม่า องค์กร NGO ระหว่างประเทศ รวมถึงสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ

ความเคลื่อนไหวคัดค้านที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลพรรค NLD ถึงกับต้องตัดสินใจเปลี่ยนตัวมุขมนตรีรัฐมอญ เพราะไม่สามารถควบคุมประชาชนในพื้นที่ได้ โดยบีบให้ หมิ่น หมิ่น อู สส.NLD จากเขตเมืองบีลิน มุขมนตรีคนเดิมลาออก และแต่งตั้ง ดร.เอ ซาน ส.ส.NLD จากเมืองไจก์โท ขึ้นเป็นมุขมนตรีคนใหม่

วันที่ 27 เมษายน 2560 ซึ่งเดิมเคยมีการประกาศว่าจะมีพิธีเปิดสะพานแห่งนี้ ปรากฏว่าพิธีเปิดถูกงดจัดโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ในทางตรงข้าม รัฐบาลรัฐมอญกลับพาคนงานมาขึ้นนั่งร้าน นำป้ายชื่อสะพาน “นายพลอองซาน (บะลูจูน)” มาติดตั้งแทนป้ายเก่าที่เป็นชื่อ “สาละวิน (ชองโซน)”

พิธีเปิดสะพาน “นายพลอองซาน (บะลูจูน) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 มีผู้มาร่วมงานจำนวนมาก
จากนั้นวันที่ 9 พฤษภาคม รัฐบาลรัฐมอญได้การเกณฑ์คนมาเป็นจำนวนมาก เพื่อร่วมพิธีเปิดใช้สะพาน “นายพลอองซาน (บะลูจูน)” และมีการเผยแพร่ภาพข่าวออกไปทั่วประเทศ

สำหรับป้ายชื่อใหม่ ซึ่งเพิ่งติดตั้งเสร็จเมื่อวานนี้ (31 พ.ค.) นอกจากเปลี่ยนชื่อจากสะพาน “นายพลอองซาน (บะลูจูน)” เป็น “สาละวิน (ชองโซน)” แล้ว ยังมีการเปลี่ยนสีพื้นของป้ายสะพาน จากเดิมที่เป็นพื้นสีแดงอันเป็นสีของพรรค NLD มาเป็นพื้นสีเขียวอีกด้วย

ในเมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ มีสะพานข้ามแม่น้ำสาละวิน 2 แห่ง แห่งแรกเป็นสะพาน “สาละวิน (เมาะละแหม่ง)” บนถนนหมายเลข 8 หรือถนน AH 1 ซึ่งเป็นสะพานหลักเชื่อมระหว่างเมืองเมาะตะมะ มายังเมืองเมาะละแหม่ง สะพานแห่งนี้สร้างเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อปี 2548

หลังการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ รัฐมอญมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นน้อยกว่าในรัฐชาติพันธุ์อื่น อย่างรัฐคะฉิ่น กะเหรี่ยง กะยา ชาน หรือรัฐชิน.




กำลังโหลดความคิดเห็น