xs
xsm
sm
md
lg

Total ระงับจ่ายเงินโครงการก๊าซนอกชายฝั่งพม่า หลังโดนกดดันหนักเป็นท่อน้ำเลี้ยงกองทัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - กองทัพพม่าสูญเสียแหล่งรายได้เมื่อบริษัทโททาล (Total) กิจการด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสระบุว่า บริษัทระงับการชำระเงินให้บริษัทร่วมทุนกับกองทัพพม่าเนื่องจากเหตุความไม่สงบในประเทศ

โททาลถูกกดดันอย่างหนักจากบรรดานักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยให้ยุติการจัดหาเงินทุนให้แก่รัฐบาลทหาร นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเดือน ก.พ. ที่ตามมาด้วยการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างโหดร้าย และมีประชาชนมากกว่า 800 คน ถูกสังหารโดยทหาร ตามการระบุของกลุ่มตรวจสอบท้องถิ่น

บริษัทโททาลระบุในคำแถลงว่า การตัดสินใจระงับการชำระเงินเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทขนส่งก๊าซธรรมชาติเมาะตะมะ (Moattama Gas Transportation Company Limited - MGTC) บริษัทร่วมทุนที่เป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซที่เชื่อมแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) กับไทย

การระงับดังกล่าวถูกเสนอขึ้นโดยบริษัทโททาล ที่ถือหุ้น 31% ในบริษัท MGTC และบริษัทเชฟรอน (Chevron) หุ้นส่วนจากสหรัฐฯ ที่ถือหุ้นในบริษัท MGTC 28%

นอกจากโททาลและเชฟรอน บริษัท MGTC ยังมีบริษัท PTTEP ของไทย ถือหุ้น 1 ใน 4 ของบริษัท และบริษัท Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) ของทหารพม่าถือหุ้น 15%

ทั้งนี้ บริษัท MOGE ทำรายได้จากการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติราว 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

“จากบริบทของความไม่มั่นคงในพม่า การกระจายเงินสดให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทถูกระงับ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.” บริษัทโททาล ระบุ

นอกจากนี้ บริษัทยังประณามความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพม่า และจะปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่กำหนดขึ้นกับรัฐบาลทหาร

โครงการท่อส่งก๊าซของบริษัท MGTC นำก๊าซจากแหล่งยาดานานอกชายฝั่งที่ดำเนินการโดยบริษัทโททาลไปยังชายแดนพม่ากับไทย โททาลกล่าวว่า บริษัทจะยังคงผลิตก๊าซต่อไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าในสองประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทพลังงานจากฝรั่งเศสได้จ่ายเงินราว 230 ล้านดอลลาร์ให้แก่ทางการพม่าในปี 2562 และอีก 176 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 ในรูปแบบของภาษีและสิทธิการผลิต ตามที่ระบุในงบการเงินของบริษัท

เลอ มงด์ (Le Monde) หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสได้รายงานถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงของบริษัทโททาลกับบริษัท MGTC เมื่อต้นเดือน พ.ค. และยังระบุว่า บริษัท MGTC จดทะเบียนอยู่ที่เกาะเบอร์มิวดา ที่เป็นดินแดนปลอดภาษี

รายงานระบุว่า ผลประโยชน์มหาศาลของโครงการก๊าซไม่ได้ตกไปอยู่ที่กองทุนของประเทศ แต่อยู่ที่บริษัทซึ่งทหารควบคุมอยู่

หลายวันต่อมาหลังรายงานดังกล่าวออกเผยแพร่ เลอ มงด์ ระบุว่า บริษัทโททาลได้ถอนโฆษณาออกจากหนังสือพิมพ์

เอ็นจีโอได้เรียกร้องให้บริษัทต่างชาติต่างๆ ทบทวนการดำเนินกิจการของตนในพม่า เนื่องจากกองทัพใช้กำลังรุนแรงเพิ่มขึ้นกับผู้ชุมนุมประท้วง

รัฐบาลทหารมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ในเศรษฐกิจของประเทศหลากหลายด้าน ตั้งแต่การทำเหมืองแร่ ไปจนถึงการธนาคาร น้ำมัน และการท่องเที่ยว

EDF บริษัทด้านพลังงานของฝรั่งเศสอีกรายหนึ่งได้ระงับกิจกรรมต่างๆ ในประเทศที่บริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้ามูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์

ส่วนบริษัทซูซูกิ ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น ได้ระงับการดำเนินการที่โรงงาน 2 แห่งในประเทศหลังเกิดการรัฐประหารได้ไม่นาน โดยโรงงานดังกล่าวได้ประกอบรถยนต์ไปทั้งสิ้น 13,300 คันในปี 2562 สำหรับป้อนตลาดในประเทศเป็นหลัก

แต่ซูซูกิ ที่ดำเนินกิจการในพม่ามาตั้งแต่ปี 2541 ได้กลับมาเปิดโรงงานอีกครั้งในอีกไม่กี่วันต่อมา และยังตั้งใจที่จะสร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 3 ในประเทศด้วย

พม่ายังเป็นผู้ผลิตรายสำคัญในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า และกลุ่มบริษัท เช่น Benetton และ H&M ได้ระงับคำสั่งซื้อใหม่ทั้งหมดจากพม่า

ส่วนบริษัท Kirin ผู้ผลิตเบียร์สัญชาติญี่ปุ่นระบุว่า บริษัทจะตัดความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับทหาร จากข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลทหารกระทำสิ่งที่ขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชน แต่บริษัทระบุว่า ยังไม่มีความตั้งใจที่จะถอนตัวออกจากตลาดทั้งหมดที่มีสัดส่วนราว 2% ของรายได้รวมของบริษัท.
กำลังโหลดความคิดเห็น