เอเอฟพี - พระสงฆ์พม่าที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้นำการต่อสู้ต่อต้านการปกครองของทหาร เริ่มมีความเห็นแตกต่างกันต่อการรัฐประหารที่ยุติระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ด้วยผู้นำทางศาสนาที่มีชื่อเสียงบางส่วนออกมาปกป้องรัฐบาลทหารชุดใหม่
3 เดือนของความวุ่นวายสับสน ที่เกิดขึ้นหลังการบุกจับกุมตัวอองซานซูจี ผู้นำพลเรือน และพันธมิตรระดับสูงของเธอในช่วงรุ่งสางเมื่อเดือน ก.พ. ซึ่งก่อให้เกิดการคัดค้านต่อต้านอย่างรุนแรงและกว้างขวาง
ผู้ชุมนุมประท้วงรวมตัวลงถนนทุกวันนับตั้งแต่นั้น ไม่หวั่นเกรงต่อภัยคุกคามจากความรุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตจากกองกำลังความมั่นคงที่ยิงผู้คนเสียชีวิตไปหลายร้อยในความพยายามที่จะทำให้ประชาชนยอมตาม
พระสงฆ์ที่เข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ที่มีอายุไม่มาก ที่ท้าทายกฎบัญญัติทางศาสนาเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง เพื่อป่าวประกาศประณามบรรดานายพล
“ฉันเต็มใจที่จะสละสมณเพศและเข้าร่วมการปฏิวัติร่วมกับประชาชน” พระชเว โอ ซายาดอ ที่เดินทางไปมาระหว่างวัดต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงการจับกุม กล่าว
การต่อสู้กับรัฐบาลทหารได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากทั่วสังคมพม่า ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่พระสงฆ์
กองกำลังความมั่นคงจับตาดูความเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารอย่างใกล้ชิดตามวัดวาอารามต่างๆ และมีพระราว 12 รูป ถูกจับกุมตัว
แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายพระสงฆ์ที่สนับสนุนทหารได้กล่าวปกป้องรัฐบาลทหารชุดใหม่ว่าเป็นผู้ปกป้องอัตลักษณ์ของชาวพุทธโดยอ้างถึงภัยคุกคามจากการยึดครองของศาสนาอิสลาม
หนึ่งในพระสงฆ์ที่สนับสนุนรัฐบาลทหารคือ พระปามุกคา ที่มีแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งและมีผู้ติดตามจำนวนมาก ซึ่งเคยถูกจับกุมตัวจากการยุยงปลุกปั่นความเกลียดชังต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา
พระปามุกคา ระบุว่า การให้ซูจีกุมบังเหียนปกครองประเทศ จะทำให้ศาสนา ชาติพันธุ์ และทั้งประเทศต้องสูญพันธุ์
ความแตกแยกทางอุดมการณ์ความคิดที่เกิดขึ้นนี้ แตกต่างไปจากการลุกฮือทั่วประเทศเมื่อปี 2550 ที่เหล่าพระสงฆ์นำการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ต่อต้านรัฐบาลทหารในเวลานั้น ที่มีชนวนเริ่มต้นมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างกะทะหัน
พระสงฆ์จำนวนมากเดินขบวนไปตามถนนพร้อมกับถือบาตรกลับหัว เพื่อแสดงการปฏิเสธที่จะรับบิณฑบาตจากทหาร
“การปฏิวัติผ้าเหลือง” ก่อให้เกิดวิกฤตความชอบธรรมอย่างรุนแรงต่อระบอบเผด็จการ ที่ตอบโต้ด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรง ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 คน และมีพระสงฆ์หลายร้อยรูปถูกจับสึกและคุมขัง
ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมตัว คือ พระกัมบีระ แกนนำสำคัญที่ถูกตัดสินโทษจำคุก 68 ปี จากบทบาทความเคลื่อนไหวในการชุมนุมประท้วง และได้รับการอภัยโทษในปี 2555
“หลายคนถูกสังหารหรือหายตัว บางคนที่ถูกจำคุกหลายปีมีสภาพร่างกายที่ย่ำแย่ หลายคนหลบหนีไปต่างประเทศ” อดีตพระกัมบีระ ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในออสเตรเลียในฐานะผู้ลี้ภัย กล่าว
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เกิดขบวนการชาตินิยมภายในหมู่พระภิกษุสงฆ์ในชื่อ มะบะธา ควบคู่ไปกับชื่อเสียงที่ขยายตัวขึ้นของพระสงฆ์สุดโต่ง วิระธู ที่เคยได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘บิน ลาเดน ชาวพุทธ’ จากนิตยสารไทม์
การใช้ถ้อยคำของพระมะบะธา และความเป็นปฏิปักษ์ของบรรดาผู้ติดตามที่มีต่อชาวโรฮิงญา ผลักดันการสนับสนุนของประชาชนต่อการปราบปรามชาวโรฮิงญาของทหารในปี 2560 ที่ผู้สอบสวนสหประชาชาติระบุว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ในปี 2560 รัฐบาลของซูจีสั่งห้ามกลุ่มมะบะธาในความพยายามที่จะควบคุมอิทธิพลของกลุ่ม แต่กลุ่มยังคงได้รับการอุปถัมภ์และการบริจาคเงินจากนายทหาร
กลุ่มมะบะธาเชื่อว่าทหารเป็นเพียงกองกำลังเดียวที่สามารถขัดขวางสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็น “อิสลามานุวัตร” หรือกระบวนการทำให้เป็นอิสลามที่ขยายตัวในพม่า แม้ประเทศจะมีชาวมุสลิมอยู่ไม่ถึง 5% ของประชากรทั้งหมดก็ตาม
“คนที่สามารถคิดล่วงหน้าถึงอนาคตจะไม่ประท้วงรัฐบาลชุดปัจจุบัน” พระปามุกคา กล่าวปกป้องการยึดอำนาจของทหาร
กองกำลังความมั่นคงสังหารพลเรือนไปอย่างน้อย 780 คน ตามการระบุของกลุ่มตรวจสอบท้องถิ่น ในการปราบปรามอย่างรุนแรงที่มุ่งเป้าปราบปรามการต่อต้านคัดค้านการรัฐประหาร
แต่พระปามุกคา กล่าวโทษสื่อถึงยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นว่าเป็นเพราะการปลุกปั่นการต่อต้านการปกครองของทหาร
แต่พระชเว โอ ซายาดอ ไม่เห็นด้วย และกล่าวโทษทหารที่ยึดอำนาจอย่างไม่เป็นธรรม
“วิกฤตในปัจจุบันเป็นผลของการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ กระบวนการตามปกติในระบอบประชาธิปไตย เราต้องยืนอยู่ข้างความยุติธรรม” พระซายาดอ กล่าว
ตามหลักพระวินัยห้ามมิใหญ่พระสงฆ์ลงคะแนนเสียงหรือมีส่วนร่วมในการเดินขบวนชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่จากการลี้ภัยในออสเตรเลีย กัมบีระ กล่าวว่า กฎระเบียบเหล่านั้นใช้เฉพาะในโลกอุดมคติ
“ประเทศของเราตกอยู่ในความสับสนวุ่นวาย เราไม่สามารถปิดตาของเราได้ พระพุทธเจ้าสอนเราว่าไม่ว่าที่ไหนหรืออย่างไร เราต้องอยู่บนเส้นทางแห่งความจริงเสมอ เรามีคติเพียงข้อเดียวคือ ไม่ยอมแพ้” กัมบีระ กล่าว.