xs
xsm
sm
md
lg

ทนายความเผย ‘ซูจี’ ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ด้านสหรัฐฯ สั่ง จนท.ที่ไม่มีกิจจำเป็นออกจากพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพแฟ้มรอยเตอร์ปี 2019 อองซานซูจีขณะเดินทางไปเขตพะโค. -- Reuters.
รอยเตอร์ - หนึ่งในทนายความของอองซานซูจี เผยว่า ผู้นำที่ถูกขับไล่ของพม่าดูมีสุขภาพแข็งแรงดีระหว่างการประชุมทางวิดีโอในวันพุธ (31) ขณะที่สหรัฐฯ สั่งให้เจ้าหน้าที่สถานทูตที่ไม่มีกิจจำเป็นเดินทางออกจากพม่าหลังหลายสัปดาห์ของความรุนแรงเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

เจ้าของรางวัลโนเบลที่ถูกทางการเข้าคุมตัวตั้งแต่ทหารยึดอำนาจ ต้องการพบกับทนายความแบบตัวต่อตัว และไม่เห็นด้วยกับการหารือแบบกว้างๆ ทางวิดีโอต่อหน้าตำรวจ มิน มิน โซ ทนายความกล่าวกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์

“อาเมดูมีสุขภาพดี ผิวพรรณดูสดใส” มิน มิน โซ กล่าว โดยใช้คำว่าอาเม (Amay) ที่มีความหมายว่าแม่เพื่ออ้างถึงอองซานซูจี

ทนายความระบุว่า มีเพียงคดีความทางกฎหมายที่ซูจีถูกยื่นฟ้องตั้งแต่การรัฐประหาร ถูกหยิบยกขึ้นหารือระหว่างการประชุมทางไกลนี้

ซูจี อายุ 75 ปี ถูกจับกุมตัวในวันเดียวกันกับที่กองทัพเข้ายึดอำนาจ และเผชิญข้อกล่าวหาที่รวมถึงการนำเข้าวิทยุสื่อ 6 เครื่องอย่างผิดกฎหมาย และการละเมิดมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ทหารยังกล่าวหาว่าเธอรับสินบนในการแถลงข่าว 2 ครั้งล่าสุด

ทนายความของซูจีกล่าวว่า ข้อหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกกุขึ้น และปฏิเสธข้อกล่าวหาการรับสินบนโดยระบุว่าเป็นเรื่องตลก ส่วนการพิจารณาคดีครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันพฤหัสฯ

ทหารอ้างความชอบธรรมให้แก่การยึดอำนาจว่าเป็นเพราะการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ที่พรรคของซูจีชนะอย่างถล่มทลายยมีการโกงอย่างกว้างขวาง ข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธ

พม่าตกอยู่ในความสับสนวุ่นวายนับตั้งแต่ประเทศกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของทหารอีกหน หลังจากก้าวสู่ประชาธิปไตยได้เพียง 1 ทศวรรษ

มีพลเรือนอย่างน้อย 521 คน ถูกสังหารในการชุมนุมประท้วง โดย 141 คนในนั้นเสียชีวิตลงเมื่อวันเสาร์ (27) ที่เป็นวันนองเลือดที่สุดของเหตุการณ์ความไม่สงบ ตามการระบุของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง

การสู้รบยังเกิดขึ้นระหว่างกองทัพและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่ชายแดน ที่ทำให้ผู้คนต้องอพยพหลบหนีความรุนแรงไปหาที่หลบภัยในประเทศเพื่อนบ้าน

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองกล่าวว่า เมื่อวันอังคาร (30) มีผู้ถูกสังหารเพิ่มอีก 8 คน ขณะที่ประชาชนหลายพันคนออกมาเดินทางขบวนในหลายเมือง ตามการรายงานของสื่อและรูปถ่ายบนสื่อสังคมออนไลน์

นอกจากนี้ ในช่วงข้ามคืนที่ผ่านมา ยังมีการประท้วงใต้แสงเทียนในหลายเมืองที่เป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านคำสั่งเคอร์ฟิว และยังมีการเดินขบวนตอนเช้าตรู่อย่างน้อยหนึ่งแห่งในวันพุธ (31)

มีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นในหลายประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ของพม่า เนื่องจากไม่มีวี่แววของทางออกจากวิกฤต และรัฐบาลทหารไม่รับข้อเสนอจากเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะช่วยหาทางแก้ไข

เมื่อวันอังคาร (30) สหรัฐฯ สั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ไม่มีกิจจำเป็นและสมาชิกครอบครัวเดินทางออกจากประเทศเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ

ด้านตำรวจและโฆษกรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ตอบรับสายที่รอยเตอร์ติดต่อเพื่อขอความเห็น

ฝ่ายต่อต้านการปกครองของทหารได้เรียกร้องการร่วมมือกันกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ต่อสู้กับรัฐบาลมาหลายสิบปีเพื่อสิทธิในการปกครองตนเองในพื้นที่ชายแดน

กองทัพได้ปกป้องการยึดอำนาจยาวนานของตนโดยระบุว่า พวกเขาเป็นเพียงสถาบันเดียวที่สามารถรวมประเทศเข้าไว้ด้วยกัน

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กลุ่มติดอาวุธเก่าแก่ที่สุดของพม่า กล่าววานนี้ว่า พวกเขากำลังเตรียมรับการโจมตีของรัฐบาลบนพื้นที่ของพวกเขาที่ปฏิบัติการอยู่ตามชายแดนด้านตะวันออกติดกับไทย

KNU เรียกร้องให้ประชาคมโลก โดยเฉพาะไทย ให้ความช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่หลบหนีการโจมตี และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพลเรือน

เครื่องบินทหารได้ทิ้งระเบิดใส่กองกำลังของ KNU ในช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้ชาวบ้านราว 3,000 คน ต้องอพยพเข้าไปในฝั่งไทย

โฆษกของหน่วยงานผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ กล่าวว่า หน่วยงานมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรายงานที่ว่าผู้คนกำลังถูกผลักดันกลับ และกำลังหาข้อมูลจากฝั่งไทย

การสู้รบยังเพิ่มขึ้นในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศระหว่างกองกำลังของรัฐบาลและกองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) ที่ล่าสุด KIA ได้โจมตีสถานีตำรวจในเช้าวันพุธ ตามการรายงานของกะฉิ่นนิวส์กรุ๊ป

ผู้คนยังคงข้ามพรมแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่าเพื่อหาที่หลบภัยในอินเดีย ที่รัฐพรมแดนได้ยกเลิกคำสั่งปฏิเสธการให้ที่พักและอาหาร หลังประชาชนวิพากษ์วิจารณ์มาตรการดังกล่าวอย่างหนัก

ประเทศตะวันตกได้กล่าวประณามซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อการรัฐประหารและความรุนแรง และเรียกร้องการปล่อยตัวอองซานซูจี ซึ่งบางประเทศยังกำหนดมาตรการคว่ำบาตรแบบจำกัด

แต่การกดดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีผลอย่างจำกัดต่อพม่า ที่โดดเดี่ยวตัวเองมานานหลายทศวรรษภายใต้การปกครองของทหารอย่างเข้มงวด และยังคงได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ เช่น รัสเซีย และจีน.
กำลังโหลดความคิดเห็น