รอยเตอร์ - บรรดาผู้นำประเทศตั้งแต่วอชิงตันไปจนถึงสิงคโปร์ ได้ประณามการรัฐประหารในพม่า เรียกร้องให้นายพลยุติการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ที่รวมถึงอองซานซูจี ผู้นำพลเรือน และฟื้นฟูรัฐบาลที่มีจากการเลือกตั้ง
นอกจากการประณามและข้อเรียกร้องต่างๆ แล้ว บางประเทศยังกำหนดมาตรการคว่ำบาตรแบบมุ่งเป้าด้วยหวังที่จะกดดันบรรดานายพลที่ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. และโน้มน้าวให้พวกเขาเปลี่ยนเส้นทาง ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศได้รวบรวมการดำเนินการตอบโต้การรัฐประหารของพม่าจากทั่วโลกดังนี้
- สหรัฐฯ -
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 11 ก.พ. เพื่อปูทางสำหรับการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่กับทหารพม่าและผลประโยชน์ของกองทัพ
คำสั่งกำหนดอายัดเงินราว 1,000 ล้านดอลลาร์ ของธนาคารกลางพม่าที่ฝากอยู่ในธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่รัฐบาลทหารได้พยายามถอนเงินหลังจากเข้ายึดอำนาจ
นายพลบางนายที่รวมถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ถูกคว่ำบาตรด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ อยู่แล้ว จากบทบาทของพวกเขาในการปราบปรามชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาที่นำไปสู่วิกฤตผู้ลี้ภัยในปี 2560
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเมื่อเดือนก่อน โดยมุ่งเป้าที่เจ้าหน้าที่พม่า 12 ราย ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร พร้อมกับบริษัทของทหารบางบริษัทที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอัญมณี อายัดทรัพย์ที่พวกเขาถือครองในสหรัฐฯ และห้ามชาวอเมริกันติดต่อทำธุรกิจกับพวกเขา ส่วนลูกๆ ของมิน อ่อง หล่าย และบริษัทที่พวกเขาควบคุมอยู่ก็ถูกคว่ำบาตรด้วยเช่นกัน
และเมื่อวันจันทร์ (22) กระทรวงการคลังได้เพิ่มการคว่ำบาตรกับผู้บัญชาการตำรวจและผู้บัญชาการทหาร พร้อมกับทหาร 2 กองพล ที่กระทรวงการคลังระบุว่า มีความเกี่ยวข้องในการปราบปรามการชุมนุมประท้วง
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังคว่ำบาตรกระทรวงและกลุ่มบริษัทที่ทหารควบคุมอยู่ 4 แห่ง เมื่อวันที่ 4 มี.ค. โดยมาตรการคว่ำบาตรเหล่านั้นกำหนดให้ซัปพลายเออร์ของสหรัฐฯ ต้องขอใบอนุญาตส่งออกสินค้าไปยังกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย และไปยังบริษัท Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) และบริษัท Myanmar Economic Corporation (MEC)
- สหภาพยุโรป -
รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปได้ดำเนินมาตรการห้ามการเดินทาง และอายัดทรัพย์สินกับบุคคล 11 ราย ที่เชื่อมโยงกับการรัฐประหารเมื่อวันจันทร์ (22)
ในบรรดาบุคคลที่ได้รับผลกระทบคือ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และมี้น ส่วย ที่ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีนับตั้งแต่การรัฐประหาร
นักการทูตสหภาพยุโรปได้กล่าวกับรอยเตอร์ว่า กลุ่มมีแนวโน้มที่จะตอบโต้แข็งกร้าวยิ่งขึ้นในเร็วๆ นี้ ด้วยการห้ามนักลงทุนและธนาคารของสหภาพยุโรปดำเนินธุรกิจกับบางส่วนของกลุ่มบริษัท MEHL และบริษัท MEC ที่สร้างรายได้ให้แก่ทหาร
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ดำเนินมาตรการห้ามค้าอาวุธกับพม่าและคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทหารอาวุโสบางรายมาตั้งแต่ปี 2561
- สหประชาชาติ -
การดำเนินการกับรัฐบาลทหารของสหประชาชาติถูกยับยั้งโดยรัสเซียและจีน ที่มีอำนาจยับยั้งในการลงคะแนนเสียงของคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อกำหนดมาตรการคว่ำบาตรหรือการห้ามค้าอาวุธของสหประชาชาติ
สองประเทศยังเป็นเกราะกำบังให้แก่พม่าจากการดำเนินการที่แข็งกร้าวใดๆ ของคณะมนตรีเกี่ยวกับวิกฤตโรฮิงญาในปี 2560 และโต้แย้งว่าสถานการณ์ทางการเมืองของพม่าเป็นเรื่องภายใน
คณะมนตรีความมั่นคงได้ออกคำแถลง 2 ฉบับ แสดงความวิตกกังวลและประณามความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วง แต่ลดการใช้ภาษาที่ประณามการเข้ายึดอำนาจของกองทัพว่าเป็นการรัฐประหาร และขู่ว่าอาจดำเนินการเพิ่มเติม เนื่องจากการคัดค้านของจีน รัสเซีย อินเดีย และเวียดนาม
- ประเทศอื่นๆ -
นิวซีแลนด์ได้ประกาศหนึ่งสัปดาห์หลังเกิดการรัฐประหารว่า ประเทศได้ระงับการติดต่อระดับสูงกับพม่า และกำหนดมาตรการห้ามการเดินทางกับผู้นำทหาร
อังกฤษและแคนาดากำหนดมาตรการคว่ำบาตรของตนเองเมื่อวันที่ 13 ก.พ. อังกฤษกล่าวว่า ประเทศจะดำเนินการอายัดทรัพย์สินและห้ามการเดินทางกับ 3 นายพล ขณะที่แคนาดาขึ้นบัญชีดำเจ้าหน้าที่ทหาร 9 นาย นอกจากนี้ อังกฤษยังดำเนินมาตรการที่ป้องกันไม่ให้ความช่วยเหลือของอังกฤษช่วยเหลือรัฐบาลทหารทางอ้อม
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ออสเตรเลียระบุว่า กำลังระงับความร่วมมือกับทหารพม่า และจะเปลี่ยนเส้นทางความช่วยเหลือต่อรัฐบาลไปให้แก่กลุ่มช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แทน
นอกเหนือจากมาตรการคว่ำบาตรแล้ว บริษัทและนักลงทุนต่างชาติบางรายที่มีธุรกิจเชื่อมโยงกับทหารพม่า เช่น บริษัทคิริน โฮลดิ้ง ของญี่ปุ่น ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์กับทหารเช่นกัน.