รอยเตอร์ - ไม่นานหลังทหารเข้ายึดอำนาจ นักลงทุนต่างชาติ 55 รายในพม่า ตั้งแต่โคคาโคลาไปจนถึงเฟซบุ๊ก ได้ลงนามในคำแถลงที่ให้คำมั่นสัญญากับประเทศและพนักงานในพื้นที่ ท่ามกลางความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้น แต่หนึ่งเดือนต่อมาคำมั่นเหล่านั้นกำลังถูกทดสอบ เนื่องจากเศรษฐกิจของพม่ากลายเป็นอัมพาตเนื่องจากการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารครั้งใหญ่ การนัดหยุดงานอย่างกว้างขวาง และการสังหารผู้ชุมนุมประท้วงหลายสิบคนของรัฐบาลทหาร ที่นำมาซึ่งการเรียกร้องการคว่ำบาตรและมาตรการลงโทษ
บริษัทวู้ดไซด์ ปิโตรเลียม ของออสเตรเลีย หนึ่งในผู้ลงนามในคำแถลง เปลี่ยนแปลงท่าทีเป็นรายแรกโดยระบุเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ว่า บริษัทกำลังลดการปรากฏตัวในประเทศท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับความรุนแรง และอาจถอนทีมสำรวจนอกชายฝั่งของบริษัทออก หลังจากบริษัทเพิ่งระบุเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนหน้าว่าการขุดเจาะไม่ได้รับผลกระทบ
ในสัปดาห์นี้ บริษัท H&M ยักษ์ใหญ่ด้านแฟชั่นที่มีซัปพลายเออร์โดยตรงในพม่าราว 45 ราย และยังเป็นผู้ลงนามในคำแถลง ระบุว่า ได้ระงับคำสั่งซื้อใหม่เนื่องจากการขนส่งและการผลิตที่หยุดชะงัก
แต่อย่างไรก็ตาม H&M ยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตระยะยาวในพม่า
“เราตระหนักถึงความซับซ้อนในการรักษาสมดุลด้านต่างๆ เพื่อให้แน่ในว่า ประชาชนในพม่าจะไม่ได้รับผลกระทบทางลบ” ผู้จัดการ H&M ประจำพม่า กล่าว
บริษัทระดับโลกอีกหนึ่งราย Kirin Holdings Co กำลังตัดความสัมพันธ์กับบริษัทเบียร์ที่เชื่อมโยงกับทหาร หลังถูกกดดันจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว
ความรุนแรงที่ยกระดับขึ้นที่ผู้ชุมนุมประท้วงเสียชีวิตมากกว่า 50 คน เป็นการเพิ่มความไม่แน่นอนให้บริษัทต่างๆ ที่กำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านชื่อเสียง
“หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกหลายเดือน อาจมีอีกหลายบริษัทถอนตัว” เจ้าหน้าที่อาวุโสโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ กล่าว
การดำเนินกิจการในพม่าเป็นการต่อสู้ระหว่างความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนสูงสำหรับธุรกิจต่างชาติ
การเปิดหนึ่งในตลาดชายขอบแห่งสุดท้ายของเอเชียในปี 2554 หลังอยู่ภายใต้การปกครองของทหารนานครึ่งศตวรรษ ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น มูลค่าเงินลงทุนพุ่งสูงถึง 4,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2560 เทียบกับ 900 ดอลลาร์ในปี 2553 ตามข้อมูลของธนาคารโลก
แต่ก่อนหน้าการรัฐประหาร บริษัทต่างๆ ก็กำลังต่อสู้กับโครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่ พลังงานไฟฟ้าที่ติดขัดไม่ต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนของกฎหมาย และเศรษฐกิจที่ถูกควบคุมโดยทหารเป็นส่วนใหญ่
ในขณะที่บริษัทต่างชาติทั้งหมดจะดำเนินการประเมินและถูกประเมินความเคลื่อนไหวถัดไปของพวกเขา แต่บริษัทพลังงานที่บางรายเป็นนักลงทุนต่างชาติที่ยาวนานที่สุดในพม่า มีแนวโน้มที่จะถูกกดดันมากขึ้น
ทอม แอนดรูว์ ผู้สอบสวนสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์พม่า กล่าวในรายงานสัปดาห์ก่อนว่า ประเทศต่างๆ ควรกำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับบริษัท Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) ที่เวลานี้ถูกควบคุมโดยกองทัพ และยังเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุดของพวกเขา
Total ที่ดำเนินกิจการอยู่ในพม่าตั้งแต่ปี 2535 และ Chevron ที่มีโครงการก๊าซนอกชายฝั่งขนาดใหญ่ร่วมกับ MOGE โฆษกของเชฟรอนกล่าวว่า บริษัทจะปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด ขณะที่ Total ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวภัยคุกคามจากการคว่ำบาตร
ส่วนบริษัทด้านโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตก็อยู่ในสถานะที่ยากลำบาก ด้วยพวกเขาต้องรับมือกับการปิดบริการเป็นช่วงๆ และกฎหมายไซเบอร์ที่ปรับแก้ใหม่ซึ่งคุกคามสิทธิมนุษยชน
บริษัท Telenor ของนอร์เวย์ ที่มีใบอนุญาตดำเนินกิจการเครือข่ายมือถือในพม่า กล่าวว่า กฎหมายที่ปรับแก้ใหม่ได้ขยายขอบเขตอำนาจของทหาร และลดเสรีภาพของพลเรือน ซึ่งบริษัทเรียกร้องการฟื้นฟูกรอบกฎหมายในพม่า
ส่วนบริษัทเฟซบุ๊กระบุเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ว่าบริษัทห้ามทหารพม่าใช้งานเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม
แค่เพียงวิธีที่บริษัทต่างๆ ควรตอบสนองต่อความท้าทายชองพม่าก็เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียง
คริส ซิโดติ ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่า ที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะสืบสวนข้อเท็จจริงของสหประชาชาติในปี 2562 กล่าวว่า บริษัทต่างชาติทุกแห่งควรระงับกิจการของพวกเขาในพม่า เพราะทหารเข้ายึดทุกส่วนของรัฐบาล แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชน Burma Campaign UK เรียกร้องให้แบรนด์ตะวันตกเอาใจใส่ผู้ที่พวกเขาทำงานด้วย ไม่ทิ้งแรงงานพม่า ด้วยมีชาวพม่าเกือบครึ่งล้านทำงานในโรงงานผลิตสิ่งทอให้แก่ร้านค้าปลีก เช่น H&M Adidas Gap และ Zara.