เอเอฟพี - องค์กรพัฒนาเอกชนเกือบ 140 แห่งจาก 31 ประเทศร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดมาตรการห้ามค้าอาวุธอย่างเร่งด่วนกับพม่า หลังกองทัพก่อรัฐประหารเมื่อต้นเดือน
“คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติควรกำหนดมาตรการห้ามค้าอาวุธต่อพม่าอย่างเร่งด่วนตอบโต้การรัฐประหารและเพื่อยับยั้งรัฐบาลทหารกระทำความรุนแรงเพิ่มเติม” จดหมายระบุ
เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึดยังระบุเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลที่อนุญาตให้ถ่ายโอนอาวุธไปพม่า ที่ประกอบด้วย จีน อินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือ ฟิลิปปินส์ รัสเซีย และยูเครน ควรยุติการจัดหาอาวุธและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องโดยทันที”
ทั้งนี้ มี 3 ประเทศที่ปรากฏชื่อในจดหมายเปิดผนึกเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง คือ จีนและรัสเซีย เป็นสมาชิกถาวรที่ทั้งคู่มีอำนาจยับยั้งในคณะมนตรี และอินเดีย ที่เป็นสมาชิกไม่ถาวร
“จากการกระทำทารุณกรรมต่อชาวโรฮิงญา การก่ออาชญากรรมสงครามที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษ และการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสามารถทำได้ คือการกำหนดมาตรการห้ามค้าอาวุธกับพม่า” ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุ
“นอกจากนี้ คณะมนตรีความมั่นคงควรกำหนดมาตรการคว่ำบาตรแบบมุ่งเป้า ห้ามการเดินทาง และอายัดทรัพย์กับผู้นำของรัฐบาลทหารและกลุ่มบริษัทที่ทหารเป็นเจ้าของ” ผู้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกระบุ ซึ่งรวมถึงเอ็นจีโอในเอเชียอีกหลายสิบแห่ง.