xs
xsm
sm
md
lg

คุกรุ่น! เหตุปะทะต่อเนื่องในรัฐกะเหรี่ยง ด้านหนึ่งยิงกันอีกฝั่งคุยกันเรื่องเขื่อน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พื้นที่ปฏิบัติการของทหารพม่าและ KNLA
MGR Online - บรรยากาศตึงเครียดกำลังปะทุในรัฐกะเหรี่ยง หลังทหารพม่ารุกเข้าไปในพื้นที่ KNLA จนเกิดการปะทะหลายครั้ง ด้าน KNLA ยื่นคำขาดให้พม่าถอนทหารออกไปภายในสิ้นปี ขณะที่ในเนปิดอ กระทรวงพลังงานและสำนักที่ปรึกษาแห่งรัฐ ประชุมพิจารณาข้อเสนอของ KNU ในโครงการเขื่อนไฟฟ้า 160 เมกะวัตต์ ที่จะสร้างในภาคพะโค

กว่า 1 เดือนมาแล้ว ที่สถานการณ์บริเวณบ้านแม่หว่าย จังหวัดผาปูน ภาคเหนือของรัฐกะเหรี่ยง ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย ต้องตกอยู่ในความตึงเครียด เนื่องจากมีการเผชิญหน้ากันระหว่างทหารพม่ากับทหารของกองพลน้อยที่ 5 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA 5) และ 2 ฝ่ายได้เกิดการปะทะกันหลายครั้ง

การปะทะครั้งรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อเช้าวันอังคารที่ 15 ธันวาคม ซึ่งเว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารกองทัพพม่า (Tatmadaw Information Team) รายงานว่า มีทหารพม่าจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการปะทะครั้งนี้

ความเคลื่อนไหวทางทหารของ KNLA 5 (ภาพจาก 4NEWS Karen State)


เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.) ก็มีรายงานว่าทั้ง 2 ฝ่าย ยังคงมีการปะทะกันอยู่ มูลเหตุของการปะทะเกิดขึ้นจากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้เสริมกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่ควบคุมของ KNLA 5 ในจังหวัดผาปูนอย่างต่อเนื่อง วันที่ 16 ธันวาคม The Irrawaddy ได้ลงบทสัมภาษณ์ พ.ต.ซอ กะเล โด โฆษก KNU ระบุว่า เฉพาะเดือนธันวาคม กองทัพพม่าได้เสริมกำลังทหารเข้ามาแล้วมากกว่า 2 กองพัน จนทำให้เกิดการปะทะกันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม

เว็บไซต์กองทัพพม่าเปิดเผยว่า การปะทะเกิดขึ้นหลังจากทหารพม่าได้เหยียบกับระเบิดที่ KNLA 5 วางเอาไว้ จากนั้นทั้ง 2 ฝ่าย ต่างเปิดฉากสาดกระสุนใส่กัน โดยเพจ 4NEWS Karen State บอกว่ากองทัพพม่าต้องการเข้ามายึดพื้นที่บริเวณบ้านแม่หว่าย ซึ่งเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของ KNLA 5 และมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 100 หลังคาเรือน

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army : KNLA) เป็นกองทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union : KNU) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 กองกำลังชาติพันธุ์ที่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่าไปแล้ว

หลังการปะทะกัน ทั้งกองทัพพม่า และ KNLA 5 ต่างกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นฝ่ายเริ่มต้นละเมิด NCA ก่อน

การตอบโต้ข้อมูลระหว่างเพจของกองทัพพม่าและเพจกลุ่มกะเหรี่ยงหลังการปะทะเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม


กลางเดือนตุลาคม กองทัพพม่าได้ส่งเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินไร้คนขับ (โดรน) ขึ้นบินเหนือพื้นที่รับผิดชอบของ KNLA 5 เป็นระยะ

ระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม ทหาร KNLA 5 ได้ใช้อาวุธหนักยิงใส่เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพพม่าจนได้รับความเสียหาย จากนั้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2 ฝ่ายได้เริ่มการปะทะกัน

วันที่ 1 ธันวาคม กองบัญชาการ KNLA 5 ได้ส่งหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารพม่าในพื้นที่จังหวัดผาปูน ยื่นคำขาดให้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ให้หมดภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้มีสันติภาพที่แท้จริงเกิดขึ้น

แต่วันที่ 15 ธันวาคม 2 ฝ่ายยังคงมีการปะทะกันและกลับยิ่งรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

Tatmadaw Information Team ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นมา มีการปะทะกันระหว่างทหารพม่ากับ KNLA 5 แล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว 4NEWS Karen State เผยแพร่คลิปของ พล.อ.บอ จ่อ เฮ รองผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และอดีต ผบ.KNLA 5 ที่ออกมาพูดด้วยท่าทีแข็งกร้าวว่า เขาจะทำทุกวิถีทางในการปกป้องผืนแผ่นดินของตนเองจากการรุกรานของกองทัพพม่า

พล.อ.บอ จ่อ เฮ ได้เรียกร้องความร่วมมือจากกองกำลังชาติพันธุ์ทุกกองทัพ ในการต่อต้านการกระทำของกองทัพพม่าที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม NCA ที่เคยเซ็นกันไว้ โดยส่งกำลังทหารเข้าไปเคลื่อนไหวในพื้นที่ของกองทัพชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ทหารพม่าตั้งด่านร่วมกับ BGF และตำรวจในเมืองเมียวดี (ภาพจากสำนักข่าว Tai Freedom)
KNLA เป็นกองทัพชาติพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 7 กองพลน้อย แบ่งเขตรับผิดชอบในรัฐกะเหรี่ยงและพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบด้วย

กองพลน้อยที่ 1 (KNLA 1) รับผิดชอบฝั่งตะวันตกของรัฐกะเหรี่ยง และครอบคลุมไปถึงบางส่วนในจังหวัดสะเทิม ตอนบนของรัฐมอญ
กองพลน้อยที่ 2 (KNLA 2) รับผิดชอบภาคเหนือ และครอบคลุมบางส่วนของจังหวัดตองอู ฝั่งตะวันออกของภาคพะโค
กองพลน้อยที่ 3 (KNLA 3) รับผิดชอบฝั่งตะวันตกตอนบน ในเมืองหญ่องเลบิน และครอบคลุมบางส่วนในฝั่งตะวันออกของภาคพะโค
กองพลน้อยที่ 4 (KNLA 4) รับผิดชอบภาคใต้ของรัฐ ข้ามไปถึงจังหวัดมะริด และทวายในภาคตะนาวศรี
กองพลน้อยที่ 5 (KNLA 5) รับผิดชอบฝั่งตะวันตกตอนบนในจังหวัดผาปูน ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย
กองพลน้อยที่ 6 (KNLA 6) รับผิดชอบฝั่งตะวันตกตอนตอนใต้ ในจังหวัดกอกะเร็ก และบางส่วนในรัฐมอญ
กองพลน้อยที่ 7 (KNLA 7) รับผิดชอบฝั่งตะวันตกตอนกลางในจังหวัดพะอัน

การประชุมเรื่องเขื่อนไฟฟ้าบอว์กะทะของ KNU ที่สำนักงาน NRPC ในกรุงเนปิดอ (ภาพจากเว็บไซต์ NRPC)
นอกจาก KNU แล้ว รัฐกะเหรี่ยงยังมีอีก 2 กองกำลังที่ได้เซ็น NCA กับรัฐบาลไปแล้ว คือ กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตย (DKBA) และสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC)

อย่างไรก็ตาม แม้ได้เซ็น NCA ไปแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง KNU และ KNLA กับกองทัพพม่าไม่เคยราบรื่น มีความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างกันตลอดเวลาในหลายพื้นที่

ความตึงเครียดที่ละเอียดอ่อนที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นตอนต้นปี 2562 เมื่อกองทัพพม่าเดินหน้าขยายเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมเมืองทันโบ-มูแต-บอแซโข่ ในอำเภอเจ้าก์จี ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสะโตง ทางทิศใต้ของจังหวัดตองอู ตามโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมระหว่างเจ้าก์จี-ตองอู ระยะทาง 52 ไมล์ โดยจะขยายผิวการจราจรจาก 12 ฟุตเป็น 34 ฟุต

กองทัพพม่าพยายามสร้างถนนสายนี้มาตั้งแต่ปี 2561 แต่ถูกต่อต้านจากประชาชน ที่สำคัญ แนวถนนจะผ่านเข้าไปในพื้นที่ KNLA 3 ซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ในเมืองหญ่องเลบิน KNLA มองว่าถนนสายนี้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงแก่หน่วยทหารพม่าที่ตั้งเผชิญหน้ากับ KNLA ในพื้นที่ บ่งบอกถึงเจตจำนงชัดเจนว่า กองทัพพม่าต้องการขยายอิทธิพลเข้าไปในพื้นที่ของ KNLA

KNLA ได้เคยเตือนอย่างเป็นทางการไปยังกองทัพพม่าแล้วว่าการขยายถนนสายนี้ จะเพิ่มความตึงเครียดระหว่าง KNLA กับกองทัพพม่า จนถึงขั้นต้องจับอาวุธมาสู้รบกันอีกครั้ง

จากนั้นกองทัพพม่ายังคงเสริมทหารเข้ามาและเลยข้ามเขตรับผิดชอบของ KNLA 3 มายังพื้นที่ของ KNLA 5 (ดูแผนที่ประกอบ)

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม สำนักข่าว Tai Freedom รายงานว่าในเมืองเมียวดี ประตูการค้าสำคัญของรัฐกะเหรี่ยงกับประเทศไทย ตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีผู้พบเห็นทหารพม่าจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวตั้งด่านตรวจหลายจุดบนท้องถนน เมื่อมีการสอบถาม ทหารเหล่านี้อ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบข้ามเขตแดน ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19

ความเคลื่อนไหวของทหารพม่าครั้งนี้ เป็นที่ผิดสังเกตของคนในพื้นที่ จนเกรงว่าอาจจะมีการสู้รบเกิดขึ้น เพราะตามปกติหน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบเมืองเมียวดีและพื้นที่โดยรอบ มีเพียงกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) และตำรวจท้องที่เท่านั้น

อู ส่อเท ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษาแห่งรัฐรายงานข้อเสนอเรื่องเขื่อนไฟฟ้าบอว์กะทะต่อที่ประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม (ภาพจากเว็บไซต์ NRPC)
อีกความเคลื่อนไหวหนึ่ง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่สำนักงานศูนย์การปรองดองและสันติภาพแห่งชาติ (National Reconciliation and Peace Centre : NRPC) ในกรุงเนปิดอ ตัวแทนจากกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน ได้ร่วมประชุมกับตัวแทนกระทรวงสำนักที่ปรึกษาแห่งรัฐ เพื่อพิจารณาข้อเสนอของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าบอว์กะทะ (Bawkahta hydropower project)

บอว์กะทะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้ากำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ ซึ่ง ซอ ทาโด มู ประธานบริษัท Thoo Lay ที่ถือหุ้นใหญ่โดย KNU ได้ไปเซ็น MOU ไว้กับกรมพลังงานไฟฟ้า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

Thoo Lay เป็นแขนขาทางธุรกิจของ KNU บริษัทนี้ทำธุรกิจน้ำมัน แก๊ส เหมืองแร่ ธุรกิจก่อสร้าง และนำเข้ารถยนต์

ตาม MOU เขื่อนบอว์กะทะจะสร้างกั้นแม่น้ำบะกะทะ ในเมืองเจ้าก์จี ภาคพะโค เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้แก่ภาคพะโคและรัฐกะเหรี่ยง

แต่การเซ็น MOU ครั้งนั้นกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากภาคประชาสังคมในรัฐกะเหรี่ยง เพราะเป็นโครงการที่ยังไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ ผู้นำ KNU เองก็ออกมายอมรับว่าไม่รู้รายละเอียดเรื่องการเซ็น MOU ของบริษัท Thoo Lay มาก่อน

จากนั้นเรื่องของโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าบอว์กะทะก็เงียบหายไป จนเพิ่งมาปรากฏเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อถูกนำเสนอบนเว็บไซต์ของ NRPC เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา

ในเนื้อข่าวบนเว็บไซต์ NRPC ไม่ได้บอกความคืบหน้าของโครงการ แต่รายงานว่า อู ส่อเท ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษาแห่งรัฐและโฆษกรัฐบาลพม่า เป็นผู้รายงานข้อเสนอโครงการนี้ของ KNU ต่อที่ประชุม ทั้งนี้ NRPC มีอองซาน ซูจี เป็นประธาน.


กำลังโหลดความคิดเห็น