xs
xsm
sm
md
lg

ผลการศึกษาชิ้นใหม่พบเขื่อนจีนกักน้ำอื้อทำปลายน้ำโขงแล้งหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - บริษัทวิจัยของสหรัฐฯ ระบุในการศึกษาชิ้นใหม่ว่า เขื่อนบนแม่น้ำโขงของจีนได้กักน้ำไว้เป็นปริมาณมากในช่วงที่ประเทศปลายน้ำเผชิญต่อภัยแล้งรุนแรงเมื่อปีก่อน ขณะที่ระดับน้ำต้นน้ำของจีนนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้โต้แย้งข้อค้นพบของการศึกษาชิ้นดังกล่าว โดยระบุว่า ในช่วงฤดูฝนปีก่อน ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ของแม่น้ำโขงที่มีความยาวถึง 4,350 กิโลเมตร ลดน้อยลง

ข้อค้นพบของบริษัท Eyes on Earth Inc. ที่เป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องน้ำและได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ อาจทำให้การหารือระหว่างจีนและประเทศลุ่มน้ำโขงเกี่ยวกับการจัดการแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 60 ล้านคน ในลาว พม่า ไทย กัมพูชา และเวียดนาม มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น

ภัยแล้งเมื่อปีก่อน ทำให้ระดับน้ำของแม่น้ำโขงตอนล่างลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี ชาวนาและชาวประมงได้รับผลกระทบอย่างหนัก และยังทำให้แม่น้ำอันกว้างใหญ่เหือดแห้งลงจนเผยให้เห็นสันทรายเป็นแนวยาว บางส่วนของแม่น้ำเปลี่ยนจากสีน้ำตาลโคลนกลายเป็นสีฟ้าครามเพราะน้ำตื้นเขินและขาดตะกอน

“แม้จีนจะระบุว่า พวกเขาไม่มีส่วนทำให้เกิดความแห้งแล้ง แต่ข้อมูลที่พบไม่ได้สนับสนุนคำกล่าวอ้างนั้น” อลัน เบซิสต์ นักอุตุนิยมวิทยาและประธานบริษัท Eyes on Earth ที่ทำการศึกษาด้วยทุนจากโครงการริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว

นอกจากนี้ การตรวจวัดความชื้นพื้นผิวด้วยดาวเทียมในบริเวณมณฑลหยุนหนานของจีนที่แม่น้ำโขงตอนบนไหลผ่าน พบว่า ในปี 2562 พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำฝนและน้ำที่ละลายจากหิมะรวมกันสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อยในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือน พ.ค.-ต.ค. แต่ระดับน้ำวัดในแม่น้ำโขงตอนล่างจากจีนตามแนวพรมแดนไทย-ลาว อยู่ในระดับที่ต่ำมากกว่า 3 เมตรจากที่ควรเป็น การศึกษาระบุ

“นั่นหมายความว่า จีนไม่ปล่อยน้ำออกมาในช่วงฤดูฝน แม้ว่าการกักน้ำของจีนจะส่งผลให้ปลายน้ำเผชิญต่อภัยแล้งอย่างรุนแรงก็ตาม” เบซิสต์ กล่าว




ผลกระทบจากเขื่อน 11 แห่งของจีนบนแม่น้ำโขงตอนบนยังเป็นข้อถกเถียงมาอย่างยาวนาน เนื่องจากขาดแคลนข้อมูล เพราะจีนไม่เผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่เขื่อนเก็บกักไว้ แต่บริษัท Eyes on Earth ระบุว่า ปริมาณน้ำรวมกันน่าจะมีมากกว่า 47,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

จีน ที่ไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องน้ำอย่างเป็นทางการกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมมือในการจัดการน้ำ และตรวจสอบสาเหตุของภัยแล้งที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน

แต่สหรัฐฯ ที่กำลังท้าทายอิทธิพลของจีนซึ่งขยายตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กล่าวว่า ปักกิ่งควบคุมแม่น้ำโขง และเมื่อปีที่ผ่านมา ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้กล่าวโทษว่าการตัดสินใจกักน้ำต้นแม่น้ำโขงของจีนเป็นต้นเหตุของภัยแล้ง

การศึกษานี้ใช้ข้อมูลดาวเทียมที่ใช้เทคโนโลยี Special Sensor Microwave Imager/Sounder ตรวจจับน้ำบนพื้นผิวจากน้ำฝนและน้ำที่ละลายมาจากหิมะในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงส่วนของจีนตั้งแต่ปี 2535 ถึงปลายปี 2562 จากนั้นนำข้อมูลเปรียบเทียบกับระดับน้ำในแม่น้ำที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงรายงานไว้ ซึ่งบันทึกจากสถานีอุทกวิทยาเชียงแสน ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ใกล้จีนมากที่สุด เพื่อสร้างแบบจำลองคาดการณ์ระดับน้ำตาม ‘ธรรมชาติ’ ของแม่น้ำ

ผลการศึกษาในช่วงปีแรกๆ ข้อมูลของแบบจำลองคาดการณ์และข้อมูลระดับแม่น้ำที่วัดจากสถานีมีความใกล้เคียงกัน แต่นับตั้งแต่ปี 2555 ที่เขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงตอนบนของจีนเข้าสู่กระบวนการผลิต ข้อมูลจากแบบจำลองและข้อมูลวัดระดับแม่น้ำเริ่มแตกต่างกันหลายปีมากขึ้น ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่จีนเก็บกักน้ำในเขื่อนช่วงฤดูฝนและปล่อยน้ำในช่วงฤดูแล้ง

เบซิสต์ กล่าวว่า ความแตกต่างเห็นชัดเป็นพิเศษในปี 2562

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้มุ่งเน้นยังส่วนที่น้ำไหลออกจากจีน ไม่ได้ดูไปถึงท้ายน้ำที่ลาวเปิดเขื่อนบนแม่น้ำโขง 2 แห่งในปลายปี 2562

จีนปฏิเสธข้อค้นพบเหล่านี้

“คำอธิบายที่ว่าการสร้างเขื่อนของจีนบนแม่น้ำล้านช้างเป็นสาเหตุของภัยแล้งในท้ายน้ำนั้นไร้ซึ่งเหตุผล” คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศถึงรอยเตอร์ระบุ โดยอ้างถึงแม่น้ำโขงด้วยชื่อภาษาจีน

กระทรวงยังกล่าวว่า มณฑลหยุนหนานเผชิญภัยแล้งรุนแรงในปีก่อน และปริมาณน้ำในเขื่อนแม่น้ำโขงของจีนก็ลดลงถึงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

“อย่างไรก็ตาม จีนจะยังดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อรับประกันว่าน้ำที่ปล่อยสู่ประเทศท้ายน้ำมีปริมาณที่เหมาะสม” กระทรวง ระบุ

ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากศูนย์วิจัย Stimson Center ในวอชิงตัน ระบุว่า การยืนยันดังกล่าวของจีนไม่สอดคล้องต่อข้อมูลการศึกษาชิ้นใหม่

“ไม่ปักกิ่งโกหก ก็คนควบคุมเขื่อนของพวกเขาโกหก ต้องมีใครคนหนึ่งที่ไม่พูดความจริง” อายเลอร์ กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น