xs
xsm
sm
md
lg

สหประชาชาติชี้โรฮิงญากว่า 600,000 ชีวิตในพม่า ยังเสี่ยงถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ยังเหลืออยู่ในพม่ายังคงเผชิญต่อ ‘ความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ผู้สืบสวนสหประชาชาติระบุวันนี้ (16) และเตือนว่า การส่งกลับผู้ลี้ภัยนับล้านคนที่ถูกทหารขับออกจากประเทศนั้นยังคง ‘เป็นไปไม่ได้’

ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงในพม่า ที่ตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ เมื่อปีที่ผ่านมา ระบุว่าปฏิบัติการของกองทัพในปี 2560 เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเรียกร้องให้ดำเนินคดีต่อนายพลระดับสูง ซึ่งรวมทั้ง พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า

ชาวโรฮิงญาราว 740,000 คน หลบหนีออกจากหมู่บ้านที่ถูกเพลิงเผาทำลาย พร้อมกับเรื่องราวการฆาตกรรม ข่มขืน และทรมาน ข้ามชายแดนมายังค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดทรุดโทรมในบังกลาเทศ

แต่ในรายงาน คณะผู้สืบสวนของสหประชาชาติกล่าวว่า โรฮิงญา 600,000 คน ที่ยังอยู่ในรัฐยะไข่ของพม่า ยังคงอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่และน่าเวทนา

“พม่ายังคงปิดบังเจตนาล้างเผ่าพันธุ์และโรฮิงญายังคงอยู่ภายใต้ความเสี่ยงอย่างร้ายแรงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ผู้สืบสวนกล่าวในรายงานขั้นสุดท้ายว่าด้วยพม่าที่มีกำหนดนำเสนอต่อคณะมนตรีในวันอังคาร (17)

“พม่ากำลังปฏิเสธการกระทำผิด ทำลายหลักฐาน ปฏิเสธการสืบสวนที่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และกำจัด ทำลาย ยึดทรัพย์ และก่อสร้างบนที่ดินที่เป็นของโรฮิงญาพลัดถิ่น” รายงานระบุ

รายงานยังระบุว่า โรฮิงญากำลังมีชีวิตอยู่ในสภาพที่ขาดมนุษยธรรม สิ่งปลูกสร้างกว่า 40,000 แห่ง ถูกทำลายในการปราบปราม

ภารกิจย้ำข้อเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติยื่นเรื่องพม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือตั้งศาลเฉพาะกิจ เช่นเดียวกับกรณีของอดีตดินแดนยูโกสลาเวีย และรวันดา

รายงานระบุว่า มีรายชื่อลับกว่า 100 ชื่อ ที่รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม นอกเหนือไปจากชื่อของนายพล 6 นาย ที่เปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อปีก่อน

รายงานยังย้ำการเรียกร้องต่อรัฐบาลต่างชาติและบริษัทต่างๆ ให้ตัดขาดความสัมพันธ์ทางธุรกิจทั้งหมดกับทหาร และเรียกร้องให้ยุติการกระทำที่เกี่ยวกับการลงทุนและความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในรัฐยะไข่

ชุมชนชาวมุสลิมถูกจำกัดความเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด ทำให้เป็นเรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้สำหรับหลายคนในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ การทำงาน และการศึกษา

ชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธความเป็นพลเมืองในพม่า ที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาพุทธ และถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

บังกลาเทศและพม่าลงนามข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดเดินทางกลับ

ผู้สืบสวนของสหประชาชาติอธิบายถึงสภาพในพม่าว่า ยังไม่ปลอดภัย ไม่ยั่งยืน และเป็นไปไม่ได้ที่การเดินทางกลับประเทศจะเกิดขึ้น และยังกล่าวหาว่ากองทัพกระทำทารุณต่อพลเรือนในตอนเหนือของรัฐยะไข่

พื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นพื้นที่ขัดแย้งอีกครั้ง เมื่อทหารทำสงครามกับกองทัพอาระกัน (AA) กลุ่มกบฏที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวพุทธยะไข่

การสืบสวนของสหประชาชาติกล่าวหาว่าทหารก่ออาชญากรรมสงคราม รวมทั้งบังคับใช้แรงงานและทรมาน และกล่าวว่า กองทัพอาระกันมีความผิดจากการก่อเหตุละเมิดในขนาดเล็ก

ซอ มิน ตุน โฆษกกองทัพพม่าปฏิเสธข้อค้นพบของคณะ และเรียกรายงานดังกล่าวว่า เป็นรายงานเพียงฝ่ายเดียว

“แทนที่จะสร้างข้อกล่าวหาอคติลำเอียง พวกเขาควรเดินทางลงพื้นที่เพื่อดูความจริง” ซอ มิน ตุน กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น