xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ บังกลาเทศโทษพม่าไม่พยายามให้มากทำแผนส่งโรฮิงญากลับยะไข่เหลว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ของบังกลาเทศ. -- Reuters.

เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศ กล่าวโทษพม่าสำหรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับความพยายามที่จะส่งตัวผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับ โดยกล่าวว่าพม่าไม่พยายามให้มากพอที่จะทำให้ชุมชนชาวโรฮิงญาไว้วางใจ

ความเห็นของนายกฯ ชีค ฮาสินา เกิดขึ้น 3 สัปดาห์หลังความพยายามครั้งใหม่ที่จะส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับไปยังรัฐยะไข่ของพม่า แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดแสดงความประสงค์ที่จะเดินทางกลับ

ชาวโรฮิงญาราว 740,000 คน หลบหนีออกจากหมู่บ้านของตนเองในรัฐยะไข่ หลังทหารดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงในเดือน ส.ค.2560 พวกเขาอพยพข้ามแดนมาฝั่งบังกลาเทศ และอาศัยอยู่ตามค่ายพักตามแนวพรมแดนของบังกลาเทศร่วมกับชาวโรฮิงญาเกือบ 200,000 คน ที่อพยพหลบหนีความรุนแรงมาก่อนหน้านั้น

“เราเห็นว่าพม่าไม่สามารถที่จะได้รับความไว้วางใจจากโรฮิงญาในการสร้างสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการส่งพวกเขากลับไปอย่างมีศักดิ์ศรี เราเตรียมการอย่างเต็มที่ แต่กระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศยังไม่สามารถเริ่มต้นขึ้นได้ ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาที่จะกลับไปยังบ้าน ที่ดิน และทรัพย์สินของพวกเขา” ผู้นำบังกลาเทศ กล่าวในรัฐสภาวันนี้ (12)

นายกฯ ฮาสินา ยังกล่าวว่า เธอได้ขอให้ชาติอื่นๆ ในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ช่วยแก้ไขวิกฤตนี้

ความเห็นของนายกฯ ฮาสินา สะท้อนถึงความไม่พอใจของกรุงธากาต่อการขาดการแก้ปัญหาวิกฤตผู้ลี้ภัย และข้อเสนอที่จะส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศก่อนหน้านี้ก็ถูกแกนนำโรฮิงญาปฏิเสธ

รัฐบาลบังกลาเทศเริ่มปราบปรามกิจกรรมตามค่ายผู้ลี้ภัย ท่ามกลางความรุนแรงที่แพร่ระบาดและความตึงเครียดในหมู่คนท้องถิ่นที่เพิ่มสูง โดยกรุงธากาเริ่มตัดการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือในระบบ 3G และ 4G ในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองเทคนาฟ และอูเคีย

แกนนำโรฮิงญากล่าวย้ำว่า ผู้ลี้ภัยจะไม่เดินทางกลับไปที่รัฐยะไข่จนกว่าความปลอดภัยของพวกเขาได้รับการรับรอง และได้รับสิทธิและความเป็นพลเมือง รวมถึงได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านของพวกเขาเอง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยอย่างเป็นทางการ และถือว่าพวกเขาเป็นชาวเบงกาลีที่อพยพอย่างผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้โรฮิงญาหลายครอบครัวจะใช้ชีวิตในพม่ามาหลายชั่วอายุคนก็ตาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น