xs
xsm
sm
md
lg

ทหารพม่ากลับลำถอนฟ้องศาสนาจารย์ชาวกะฉิ่น ออกตัวแก้เกี้ยวเป็นสิ่งที่ควรทำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - กองทัพพม่าเผยว่าได้เพิกถอนการฟ้องร้องทางอาญาต่อผู้นำทางศาสนาที่บอกกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ว่า ทหารกำลังปราบปรามคริสเตียน ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังสหรัฐฯ แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการฟ้องร้องดังกล่าว

ศาสนาจารย์คาลัม แซมซัน จากสหคริสตจักรแบ๊บติสท์กะฉิ่น องค์กรในรัฐกะฉิ่นที่เป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยชาวกะฉิ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ ได้มีส่วนร่วมในการชุมนุมที่ทำเนียบขาวเมื่อเดือน ก.ค. ที่เหยื่อของการกดขี่ทางศาสนาได้พบหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์ และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ

แซมซัน บอกกับทรัมป์ ว่า คริสเตียนกำลังถูกกดขี่ข่มเหงและถูกทรมานโดยรัฐบาลทหารพม่าในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ เขายังกล่าวขอบคุณทรัมป์ สำหรับมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดขึ้นกับนายพลระดับสูงของพม่าจากการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมาก

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ทหารได้ยื่นฟ้องแซมซัน แต่โฆษกทหารกล่าวกับรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ (9) ว่า ในตอนนี้ทหารได้ถอนฟ้องอย่างเป็นทางการแล้ว

“เราถอนฟ้องด้วยความสมัครใจเพราะมันเป็นสิ่งที่เราควรทำ” โฆษกกองทัพพม่ากล่าวทางโทรศัพท์ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดใดเพิ่มเติม

แซมซัน เรียกความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า เป็นท่าทีเชิงบวกต่อชาวกะฉิ่น

“เรายินดีที่เรื่องนี้สิ้นสุดลงด้วยความเข้าใจและไม่จำเป็นต้องถูกนำขึ้นศาล” แซมซัน กล่าว

ความเคลื่อนไหวของทหารเกิดขึ้นหลังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการฟ้องร้อง ที่กระทรวงระบุว่า เป็นความพยายามที่จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม และยังอาจขัดขวางการทำงานที่สำคัญในนามของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศหลายหมื่นคน

ในเดือน ก.ค. สหรัฐฯ กำหนดห้าม พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการระดับสูงอีก 3 นาย พร้อมครอบครัว จากการเดินทางเข้าสหรัฐฯ มาตรการที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นจากฝั่งวอชิงตันในการตอบสนองต่อเหตุการณ์การสังหารหมู่ชาวมุสลิมโรฮิงญา

การปราบปรามของทหารในพม่าเมื่อปี 2560 ทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 730,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศ ตามการระบุของสหประชาชาติ และผู้สืบสวนของสหประชาชาติกล่าวว่า ปฏิบัติการของพม่ายังรวมทั้งการสังหารหมู่ การรุมโทรมข่มขืน และการวางเพลิง และปฏิบัติการต่างๆ เหล่านั้นกระทำด้วยเจตนาล้างเผ่าพันธุ์

พม่าปฏิเสธข้อหาดังกล่าว โดยระบุว่า กองทัพดำเนินการปราบปรามอย่างถูกต้องต่อผู้ก่อความไม่สงบที่ก่อเหตุโจมตีด่านตำรวจ และสังหารเจ้าหน้าที่ความมั่นคงหลายราย.
กำลังโหลดความคิดเห็น