รอยเตอร์ - ผู้นำศาสนาชาวพม่ากำลังเผชิญกับการร้องเรียนทางกฎหมายจากเจ้าหน้าที่ทหาร หลังบอกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่า ทหารดำเนินการปราบปรามและทรมานชาวคริสต์ในประเทศ
ทรัมป์ และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จำนวนหนึ่งได้พบหารือกับเหยื่อการกดขี่ทางศาสนาจากประเทศต่างๆ รวมทั้งจีน ตุรกี เกาหลีเหนือ และอิหร่าน ระหว่างเยือนทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศ
ศาสนาจารย์คาลัม แซมซัน จากสหคริสตจักรแบ๊บติสท์กะฉิ่น กล่าวว่า ชาวคริสต์กำลังถูกกดขี่และทรมานโดยรัฐบาลทหารพม่า
ศาสนาจารย์แซมซัน ยังกล่าวขอบคุณทรัมป์สำหรับมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ทหาร โดยระบุว่า เป็นการกระทำที่มีประโยชน์อย่างมาก
ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ทหารได้ยื่นฟ้องศาลเมืองมิตจีนา เมืองเอกของรัฐกะฉิ่นในภาคเหนือของประเทศ โดยคำร้องเรียนได้อ้างถึงการถ่ายทอดสดการพบหารือกับทรัมป์ ที่เผยแพร่ทางหน้าเพจเฟซบุ๊กของ World News Now ของสถานี ABC News และร้องขอการดำเนินการทางกฎหมายแต่ไม่ได้ระบุเจาะจงถึงข้อหา โดยการพิจารณาคดีเบื้องต้นจะเกิดขึ้นในวันที่ 9 ก.ย.
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ศาลปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดของข้อหา ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เจ้าหน้าที่ที่ยื่นคำร้องเรียน เรียกร้องการดำเนินการทางกฎหมายหลังพบคำพูดของแซมซันที่ถูกโพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก
“ผมคิดว่าเหตุผลที่ทหารกำลังพยายามจะฟ้องร้องผม คือเพราะผมบอกกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่า ผมชื่นชมมาตรการคว่ำบาตรทหารพม่า” แซมซัน กล่าวกับรอยเตอร์
สหรัฐฯ ห้าม พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการอาวุโสอีก 3 นาย และครอบครัวของนายทหารเหล่านั้นเดินทางเข้าสหรัฐฯ ที่เป็นขั้นตอนตอบโต้ที่หนักที่สุดของวอชิงตันต่อเหตุสังหารหมู่ชาวมุสลิมโรฮิงญา
การปราบปรามของทหารในพม่าเมื่อปี 2560 ทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศ ตามการระบุของสหประชาชาติ และผู้สืบสวนสหประชาชาติ กล่าวว่า ปฏิบัติการของทหารที่รวมทั้งการสังหารหมู่ การรุมโทรมข่มขืน และการวางเพลิง เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้างเผ่าพันธุ์
พม่าปฏิเสธข้อหา และกล่าวว่า ฝ่ายตนดำเนินการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบที่โจมตีด่านตำรวจและสังหารสมาชิกกองกำลังความมั่นคงไปเป็นจำนวนมาก.