xs
xsm
sm
md
lg

พม่าโทษบังกลาเทศทำแผนส่งตัวผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศล้มเหลว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - พม่าโยนความผิดให้บังกลาเทศ จากความพยายามที่ล้มเหลวเป็นครั้งที่ 2 ที่จะส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศ หลังไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดแสดงตัวว่าจะเดินทางกลับรัฐยะไข่

ทหารพม่าดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ ที่นำไปสู่การอพยพของชาวโรฮิงญามากกว่า 740,000 คน ข้ามไปหลบภัยในฝั่งบังกลาเทศ

รัฐยะไข่ยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา ส่วนโรฮิงญาที่ยังอาศัยในรัฐ ต้องอาศัยอยู่ภายในค่ายที่แออัดทรุดโทรม หรือหมู่บ้านที่ไม่มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว

แม้สองประเทศจะลงนามข้อตกลงกันในปี 2560 แต่ความพยายามส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศครั้งแรกก็ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยไม่มีโรฮิงญาตกลงยินยอมที่จะเดินทางกลับ หากไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยและสิทธิในความเป็นพลเมือง

การผลักดันครั้งใหม่เริ่มขึ้นเมื่อวันพฤหัสฯ ด้วยรัฐบาลทั้งสองประเทศให้คำมั่นที่จะส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเกือบ 3,500 คน กลับประเทศ แต่ความพยายามครั้งนี้ก็ล้มเหลวอีกเช่นเคย เมื่อไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดออกมาขึ้นรถโดยสารที่บังกลาเทศจัดเตรียมไว้สำหรับส่งพวกเขาข้ามแดน

กระทรวงการต่างประเทศของพม่ายังคงเล่นเกมกล่าวโทษอีกฝ่ายอย่างต่อเนื่องในวันนี้

“การส่งผู้พลัดถิ่นกลับประเทศให้ราบรื่นจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงทวิภาคี” หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของทางการพม่ารายงาน

กระทรวงโยนความรับผิดชอบให้แก่บังกลาเทศสำหรับความล้มเหลวในการแจกจ่ายเอกสารที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า “แบบฟอร์มตรวจสอบ” ให้แก่ผู้ที่จะเดินทางกลับ

“ขั้นตอนนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม” กระทรวงระบุ และเสริมว่า ฝ่ายบังกลาเทศยังเพิกเฉยต่อคำร้องขอให้เร่งกระบวนการการส่งผู้ลี้ภัยชาวฮินดูมากกว่า 400 คน กลับประเทศ

กระทรวงยังยืนยันว่า จีนและญี่ปุ่นได้อำนวยความสะดวกต่อกระบวนการการส่งกลับ และเป็นรัฐบาลจีนที่แจ้งพวกเขาเมื่อต้นเดือนถึงความตั้งใจของบังกลาเทศที่จะเริ่มกระบวนการอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ทางการบังกลาเทศนั้นมีความกระตือรือร้นต่อการเดินทางกลับของโรฮิงญา เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดสำหรับผู้ลี้ภัยที่มีเกือบล้านคนตามค่ายพักต่างๆ และการไม่มีผู้ลี้ภัยปรากฏตัวในวันพฤหัสฯ ถือเป็นเรื่องน่าผิดหวังมากสำหรับบังกลาเทศ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ ระบุ

รัฐมนตรีของกรุงธากา ยังกล่าวว่า โรฮิงญากำลังใช้บังกลาเทศเป็นตัวประกันโดยการยืนยันถึงความต้องการสถานะพลเมืองของพวกเขา

แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเตือนว่า เงื่อนไขในพม่ายังไม่เหมาะสมสำหรับการเดินทางกลับ และผู้สืบสวนสหประชาชาติ กล่าวว่า ความรุนแรงในปี 2560 เป็นเหตุผลอันสมควรต่อการดำเนินคดีกับนายพลระดับสูงสำหรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์.


กำลังโหลดความคิดเห็น