เอเอฟพี - การผลักดันครั้งใหม่เพื่อส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับพม่าดูเหมือนจะไม่มีความคืบหน้าในวันนี้ (22) เนื่องจากไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดยอมขึ้นรถโดยสารและรถบรรทุกนับสิบคันที่ทางการบังกลาเทศจัดเตรียมไว้ให้
สมาชิกของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม ที่หลบหนีการปราบปรามของทหารพม่าในปี 2560 กว่า 740,000 คน ต่างปฏิเสธที่จะเดินทางกลับ หากไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัย และคำมั่นสัญญาว่าในท้ายที่สุดพวกเขาจะได้รับสถานะพลเมืองจากพม่า
“รัฐบาลพม่าข่มขืนเรา และสังหารเรา ดังนั้นเราถึงต้องการความปลอดภัย หากไม่ปลอดภัย เราก็ไม่กลับ” แกนนำชาวโรฮิงญากล่าว ตามที่ระบุในคำแถลงซึ่งเผยแพร่โดยผู้ลี้ภัย
“เราต้องการการรับรองอย่างแท้จริงถึงสิทธิในความเป็นพลเมือง ความปลอดภัย และสัญญาเรื่องภูมิลำเนาเดิม เราต้องพูดคุยกับรัฐบาลพม่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนกลับประเทศ” โมฮัมหมัด อิสลาม ชาวโรฮิงญาอีกราย กล่าว
ยานพาหนะที่จัดเตรียมไว้เพื่อขนส่งผู้ลี้ภัยชุดแรกจำนวน 3,450 คน มาถึงที่ค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองเทคนาฟ เมื่อเวลา 9.00 น. แต่หลังจากผ่านไป 4 ชั่วโมง ไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดปรากฎตัว
“เราสัมภาษณ์ครอบครัวผู้ลี้ภัยไปทั้งหมด 295 ครอบครัว แต่ไม่มีใครแสดงความสนใจที่จะเดินทางกลับพม่า” โมฮัมหมัด อาบุล คาลัม คณะกรรมาธิการผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ กล่าวกับนักข่าว
โรฮิงญาไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นชนกลุ่มน้อยอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลพม่า ที่มองว่าพวกเขาเป็นเบงกาลี หรือผู้ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย แม้หลายครอบครัวจะอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุก็ตาม
ผู้สืบสวนสหประชาชาติกล่าวว่า ความรุนแรงในปี 2560 เป็นเหตุผลอันสมควรในการดำเนินคดีกับนายพลระดับสูงของพม่าจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และศาลอาญาระหว่างประเทศได้เริ่มกระบวนการสอบสวนเบื้องต้นแล้ว
ความพยายามส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศครั้งล่าสุด เกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่า นำโดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยี่ยมค่ายเมื่อเดือนก่อน
กระทรวงการต่างประเทศของบังกลาเทศได้ส่งรายชื่อผู้ลี้ภัยมากกว่า 22,000 คนให้กับทางการพม่าเพื่อตรวจสอบและกรุงเนปีดอได้อนุมัติรับรองผู้ลี้ภัยที่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ 3,450 คน
จาฟาร์ อาลัม แกนนำชุมชนชาวโรฮิงญา กล่าวกับนักข่าวว่าผู้ลี้ภัยเต็มไปด้วยความหวาดกลัวนับตั้งแต่ที่เจ้าหน้าที่ประกาศเรื่องกระบวนการส่งกลับประเทศครั้งใหม่ พวกเขาหวาดกลัวว่าจะถูกส่งตัวไปที่ค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หากพวกเขาเดินทางกลับพม่า
ด้านโฆษกสหประชาชาติ กล่าวว่าการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ มีความปลอดภัย และมีศักดิ์ศรี ขณะที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า พม่ายังไม่ได้จัดการกับการกดขี่ข่มเหงและความรุนแรงอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา ดังนั้นผู้ลี้ภัยจึงมีเหตุผลให้รู้สึกหวาดกลัวถึงความปลอดภัยของตนเองหากเดินทางกลับพม่า.