รอยเตอร์/เอเอฟพี - กาโป (Gapo) เครือข่ายสังคมออนไลน์สไตล์เฟซบุ๊กเปิดตัวในเวียดนามวานนี้ (24) หลังรัฐบาลเวียดนามเรียกร้องให้บริษัทด้านเทคโนโลยีในท้องถิ่นสร้างทางเลือกให้แก่ประชาชนนอกเหนือไปจากเฟซบุ๊กและกูเกิลของสหรัฐฯ
ห่า จึ่ง เกียน ผู้บริหารบริษัท G-Group บริษัทแม่ของ ‘กาโป’ แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างโปรไฟล์ส่วนตัวและแชร์โพสต์ต่างๆ บนฟีดข่าวแบบเดียวกับเฟซบุ๊ก ระบุว่า บริษัทตั้งเป้าให้แอปกาโปมีผู้ลงทะเบียนใช้งาน 3 ล้านคนในปีนี้ และ 20 ล้านคนในเดือน ม.ค.2564
“ผู้ใช้งานชาวเวียดนามและองค์กรต่างๆ พึ่งพาเฟซบุ๊กมากเกินไปเพราะไม่มีเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้พวกเขาเลือกใช้มากนัก” ห่า จึง เกียน กล่าว
แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเปิดตัวแอปกาโปในช่วงค่ำของวันจันทร์ (23) เว็บไซต์ก็ประสบปัญหาทางเทคนิคเนื่องจากผู้ใช้งานพยายามลงทะเบียนเข้าใช้พร้อมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ใช้งานบางรายไม่สามารถลงทะเบียนได้ ขณะที่อีกหลายคนไม่สามารถใช้งานฟังก์ชันบางอย่างของแอปได้
แม้กาโปจะมีความคล้ายคลึงกันกับเฟซบุ๊ก แต่เซวือง วี คว้า ผู้ร่วมก่อตั้งแอปกาโป กล่าวว่า บริษัทไม่มีเจตนาที่จะแข่งขันกับเครือข่ายสังคมออนไลน์รายใด แต่มีความตั้งใจที่จะให้ทุกคนใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์หลากหลายช่องทางขึ้น
เวียดนาม ประเทศที่ประชากรมากกว่าครึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปี กำลังแสวงหาแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นของท้องถิ่น ซึ่งในเดือน ก.ย.2561 รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลได้เรียกร้องให้บริษัทท้องถิ่นสร้างตัวเลือกภายในประเทศที่มีประสิทธิภาพนอกเหนือไปจากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่างประเทศ ซึ่งผู้สังเกตการณ์ กล่าวว่า บริษัทท้องถิ่นน่าจะเต็มใจที่จะปฏิบัติตามกฎหมายอินเทอร์เน็ตฉบับใหม่มากกว่า
แม้เวียดนามจะดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากขึ้น แต่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศยังคงควบคุมสื่อในประเทศอย่างเข้มงวด และไม่อดทนยินยอมต่อผู้เห็นต่าง
กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ของเวียดนามที่มีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. เพิ่มแรงกดดันต่อบริษัท เช่น กูเกิล และเฟซุบ๊ก ที่กำหนดให้บริษัทต้องตั้งสำนักงานในเวียดนามและจัดเก็บข้อมูลในประเทศ และเมื่อเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้ร้องขอให้บริษัทต่างๆ ไม่ลงโฆษณาในคลิปวิดีโอบนยูทิวป์ที่มีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ
นักเคลื่อนไหวและผู้เห็นต่างถูกจับกุมหรือดำเนินคดีมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาจากการโพสต์เนื้อหาที่ถูกพิจารณาว่าต่อต้านรัฐลงบนโลกออนไลน์ โดยองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า มากกว่า 10% ของนักโทษ 128 คน ที่ถูกคุมขังจากการแสดงมุมมองต่างจากรัฐ ถูกจำคุกจากการโพสต์ความเห็นต่อต้านรัฐบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก.