xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตร ‘มิน ออง หล่าย’ ผบ.สส.พม่า พร้อมนายพลอีก 3 กรณีสังหารหมู่โรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตร พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า และนายพลอีกจำนวนหนึ่ง ที่สหรัฐฯ ระบุว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยกำหนดห้ามมิให้บุคคลเหล่านี้เดินทางเข้าสหรัฐฯ

มาตรการคว่ำบาตรนี้ที่ครอบคลุมถึง พล.อ.โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลจัตวาถั่น อู พลจัตวาอ่อง อ่อง และครอบครัวของพวกเขา ถือเป็นการดำเนินการของสหรัฐฯ ในการตอบโต้การสังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในพม่าที่หนักที่สุด

“เรายังมีความวิตกว่ารัฐบาลพม่าไม่ได้ดำเนินการที่ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ที่รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำทารุณเหล่านี้ และยังมีรายงานต่อเนื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำทารุณโดยทหารพม่าทั่วประเทศ” ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในคำแถลง

พอมเพโอ กล่าวว่า พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย สั่งการให้ปล่อยตัวทหารที่ถูกตัดสินความผิดจากการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมที่หมู่บ้านอินดิน ระหว่างปฏิบัติการกวาดล้างชาติพันธุ์โรฮิงญาในปี 2560 เป็นตัวอย่างอันเลวร้ายของการขาดความรับผิดชอบอย่างรุนแรงและต่อเนื่องของกองทัพและผู้นำอาวุโสของกองทัพ

“ผู้บัญชาการทหารสูงสุดปล่อยตัวอาชญากรเหล่านี้หลังจำคุกเพียงไม่กี่เดือน ขณะที่นักข่าวที่เป็นผู้เปิดเผยเรื่องราวการสังหารในหมู่บ้านอินดิน กลับถูกจำคุกนานกว่า 500 วัน” พอมเพโอ ระบุ

การสังหารหมู่ในหมู่บ้านอินดินถูกเปิดเผยโดยนักข่าวสองคนของรอยเตอร์ คือ วา โลน และ จ่อ โซ อู ที่ถูกคุมขังในเรือนจำนานกว่า 16 เดือน จากข้อหาครอบครองเอกสารลับของรัฐ และทั้งสองได้รับการปล่อยตัวจากการอภัยโทษเมื่อวันที่ 6 พ.ค.

ประกาศของสหรัฐฯ เกิดขึ้นในวันแรกของการประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนาที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีผู้แทนจากชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาเข้าร่วมการประชุม

“จากการประกาศนี้ สหรัฐฯ ถือเป็นรัฐบาลแรกที่ดำเนินการอย่างเปิดเผยด้วยความเคารพต่อผู้นำอาวุโสสูงสุดของกองทัพพม่า เรากำหนดมาตรการกับบุคคลเหล่านี้ตามข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของผู้บัญชาการดังกล่าวในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” พอมเพโอ กล่าว

พลจัตวา ซอ มิน ตุน โฆษกกองทัพพม่า กล่าวทางโทรศัพท์ว่า กองทัพไม่ได้เพิกเฉยต่อข้อกล่าวหา โดยอ้างถึงการสอบสวนภายในที่เป็นการสืบสวนภายใต้การนำของกองทัพในปี 2560 ที่ทำให้กองกำลังความมั่นคงพ้นข้อกล่าวหาการกระทำทารุณ และยังมีการสอบสวนอีกคณะหนึ่งที่กำลังดำเนินการอยู่

“ในตอนนี้เรามีคณะกรรมการสอบสวนที่ดำเนินการสอบสวนอย่างละเอียด พวกเขาควรให้คุณค่ากับข้อเท็จจริงเหล่านี้” โฆษกกองทัพพม่า กล่าว และว่าทหารกลุ่มดังกล่าวได้รับการปล่อยตัวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เมียว ยุ้นต์ โฆษกของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย กล่าวตำหนิการตัดสินใจกำหนดมาตรการคว่ำบาตร ว่า การกระทำของสหรัฐฯ ในลักษณะนี้เกิดขึ้น เพราะไม่เข้าใจถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของประเทศ และผู้นำพม่าไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาสิทธิมนุษยชน.
กำลังโหลดความคิดเห็น