xs
xsm
sm
md
lg

สหประชาชาติเตือนปรับลดความช่วยเหลือหลังพม่าปิดค่ายโรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สหประชาชาติเตือนว่าจะปรับลดความช่วยเหลือต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายพันคน หลังรัฐบาลพม่าปิดค่ายในรัฐยะไข่ ด้วยวิตกว่าการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของสหประชาชาติเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการแบ่งแยกมากยิ่งขึ้น

หน่วยงานให้ความช่วยเหลือกำลังเผชิญต่ิสถานการณ์ลำบากในภูมิภาคที่พวกเขาพยายามสมดุลการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ชุมชนที่เดือดร้อนกับอำนาจต่อรองกับรัฐบาล

ชาวโรฮิงญาในพม่าส่วนใหญ่ถูกผลักดันให้ออกจากประเทศข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศจากการปราบปรามทางทหารในปี 2560 แต่ยังมีโรฮิงญาอีกราว 400,000 คน ยังอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่

คนเหล่านั้นยังรวมถึงโรฮิงญาอีกเกือบ 130,000 คน ที่ถูกควบคุมตัวให้อยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นตั้งแต่ปี 2555 ที่ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือจากหน่วยงานของสหประชาชาติ และกลุ่มด้านมนุษยธรรม

พม่าได้ปิดค่ายพักบางส่วนที่มีโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 9,000 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของประเทศในการจัดการกับวิกฤตดังกล่าว แต่ชาวโรฮิงญาเหล่านั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับไปยังที่อยู่อาศัยเดิมของพวกเขา แต่ย้ายไปอาศัยในที่พักแห่งใหม่ใกล้กับค่ายเดิมและยังต้องพึ่งพาของบริจาค

แต่การดำเนินการดังกล่าว สร้างความวิตกให้แก่หน่วยงานช่วยเหลือว่ากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนนโยบายที่ล้มเหลวในการจัดการกับความต้องการพื้นฐานของโรฮิงญา ที่ประกอบด้วยที่พักอาศัย อาชีพการงาน อาหาร และความปลอดภัย

แผนการปิดค่ายพักเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการแบ่งแยก คนุต ออสต์บี้ ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติประจำพม่า ระบุในจดหมายถึงรัฐบาลพม่า ลงวันที่ 6 มิ.ย.

จดหมายดังกล่าวที่เขียนขึ้นในนามของกลุ่มช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ยังเตือนว่าการสนับสนุนให้ความช่วยที่นอกเหนือไปกว่าการช่วยชีวิตในค่ายพักที่ถูกปิดไปนั้น จะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานของเสรีภาพในการเคลื่อนไหว

รัฐบาลพม่ากล่าวป้องแผนการปิดค่ายพัก และกล่าวว่า รัฐบาลจะยังทำงานกับสหประชาชาติและเอ็นจีโอในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

กระทรวงสวัสดิการสังคม ระบุว่า อดีตผู้พักอาศัยในค่ายที่ถือบัตรพิสูจน์สัญชาติ (National Verification Card-NVC) จะสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีภายในเมืองของพวกเขา และเข้าถึงการศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพและกิจกรรมในการดำรงชีวิต

แต่โรฮิงญาส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะยื่นเรื่องขอรับบัตรดังกล่าว เพราะพวกเขาเชื่อว่าพวกเขาควรได้รับการปฏิบัติในฐานะพลเมืองเต็มรูปแบบอยู่แล้ว

สหประชาชาติถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตอบสนองล่าช้าต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาที่ทวีความรุนแรงขึ้นหลังเหตุจลาจลปี 2555 ระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่

รายงานของสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (17) ยอมรับถึงความล้มเหลวอย่างเป็นระบบในการรับมือของสหประชาชาติต่อสถานการณ์ที่พัฒนาไปสู่วิกฤตโรฮิงญา.
กำลังโหลดความคิดเห็น