xs
xsm
sm
md
lg

นักเคลื่อนไหวพม่ารวมตัวค้านทหารจับนักวิจารณ์ขึ้นศาล ร้อง ‘ซูจี’ ช่วยทำอะไรสักอย่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - เมื่อมิน ถิ่น โก โก ยี เดินทางมาถึงศาลนครย่างกุ้งด้วยข้อหาหมิ่นประมาททหารจากการโพสต์เฟซบุ๊ก ผู้สร้างภาพยนตร์ที่กำลังเจ็บป่วย ได้รับการต้อนรับจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่แต่งกายด้วยชุดสีน้ำเงิน ที่เป็นสีของเครื่องแบบนักโทษ

ข้อหาที่ตั้งขึ้นกับมิน ถิ่น โก โก ยี รวมทั้งกลุ่มนักแสดงล้อเลียน นักข่าว และพระสงฆ์ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์นางอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลที่เผชิญต่อแรงกดดันในระดับนานาชาติอยู่แล้วจากสถานการณ์การปราบปรามของทหารต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาจเป็นการล้างเผ่าพันธุ์

นักเคลื่อนไหวบางคนกล่าวว่า ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลที่นำคณะบริหารพลเรือนเข้าบริหารประเทศในปี 2559 สามารถออกกฎหมาย หรืออย่างน้อยส่งเสียงคัดค้านการปราบปรามผู้เห็นต่าง

แต่หลายคนก็แสดงความเห็นแย้งว่า ซูจีถูกขัดขวางจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 รัฐธรรมนูญที่ทหารร่างขึ้นและรักษาอำนาจให้แก่ทหาร ซึ่งพรรคการเมืองของซูจีพยายามที่จะแก้ไข โดยฝ่ายผู้ให้การสนับสนุนและปกป้องซูจียังรวมถึงมิน ถิ่น โก โก ยี ด้วย

“ไม่ควรมีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นกับอองซานซูจีที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เธอกำลังทำบางสิ่งที่สำคัญกว่า” ผู้สร้างภาพยนตร์ ที่ผู้สนับสนุนกล่าวว่าสุขภาพย่ำแย่ลงเพราะถูกควบคุมตัว กล่าวในคำแถลง

ซูจียังคงเป็นบุคคลที่ได้รับความนิยมสูง และแทบไร้ข้อกังขาว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี จะชนะเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า แต่ชัยชนะจะกลายเป็นเรื่องยากหากพรรคถูกมองว่าทรยศหลักการการก่อตั้งพรรค

“พรรค NLD ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และได้คะแนนเสียงให้เข้าบริหารประเทศเนื่องจากบทบาทความเป็นผู้นำของพวกเขาในการเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะพวกเขาได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพราะพวกเขาทำสิ่งที่เหมือนผู้กดขี่” ผู้จัดการการรณรงค์ออนไลน์ต่อต้านการจับกุมและผู้อำนวยการกลุ่ม Coexist ที่สนับสนุนความสามัคคีระหว่างศาสนา กล่าว

ทหารที่ยังคงควบคุมกระทรวงสำคัญของรัฐ ที่ประกอบด้วยความมั่นคงของชาติและตำรวจ ได้เริ่มฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้เห็นต่าง ทหารยื่นร้องเรียนอย่างน้อย 6 เรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลย 12 คน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.2561 โดยมุ่งเป้าการวิจารณ์ทหาร

คดีของมิน ถิ่น โก โก ยี เกิดขึ้นจากการร้องเรียนของเจ้าหน้าที่ในเดือน มี.ค. ที่ระบุถึงโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์บทบาททางการเมืองของทหารของผู้สร้างภาพยนตร์

โฆษกทหารกล่าวว่า กองกำลังทหารจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด

“หากการวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องยุติธรรม เราไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำอะไร แต่หากการวิพากษ์วิจารณ์เป็นการวิจารณ์เพียงฝ่ายเดียวและไม่ถูกต้อง เราจะปกป้องศักดิ์ศรีขององค์กรของเรา” ซอ มิน ตุน กล่าว

โฆษกพรรค NLD กล่าวว่า รัฐธรรมนูญขัดขวางผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งจากการดำเนินการตามความเชื่อและนโยบายของพวกเขา

“วันหนึ่งเมื่อเราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เมื่อนั้นเราจะมีสหภาพรัฐสหพันธ์ประชาธิปไตยได้ ความยากลำบากเช่นนี้จะหายไป” เมียว ยุ้นต์ โฆษกพรรค กล่าว

นักรณรงค์กล่าวว่า นักโทษการเมือง 25 คน ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระจากการอภัยโทษของประธานาธิบดีตั้งแต่เดือน เม.ย. พร้อมกับนักโทษคนอื่นๆ อีกหลายพันคน ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวยังรวมถึงนักข่าวรอยเตอร์ วา โลน และ จ่อ โซ อู ที่ถูกตัดสินความผิดภายใต้กฎหมายความลับทางการและถูกตัดสินจำคุก 7 ปี หลังพวกเขาเปิดเผยเรื่องการสังหารหมู่ชาวมุสลิมโรฮิงญาโดยทหารและชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธ

แต่นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า รัฐบาลของซูจีล้มเหลวที่จะใช้เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาแก้ไขกฎหมายกดขี่ หรือแม้แต่จะแสดงการคัดค้านการจำคุกผู้เห็นต่าง

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ระบุว่า ผู้ถูกคุมขัง 170 คน ถูกตัดสินความผิดหรือเผชิญต่อการพิจารณาคดีในข้อหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง

บรรดาผู้ที่อยู่ในเรือนจำ รวมทั้งสมาชิกของกลุ่มนักแสดงละครเสียดสี 7 คน ถูกจับกุมหลังเจ้าหน้าที่ทหารร้องเรียนเกี่ยวกับการแสดงของพวกเขาที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กระหว่างเทศกาลปีใหม่

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่มีส่วนในการรณรงค์ทางออนไลน์เพื่อคัดค้านการจับกุมตัว กล่าวว่า รัฐบาลซูจีเคยเป็นนักโทษการเมือง แต่เวลานี้พวกเขาไม่ทำอะไรเพื่อนักโทษการเมือง

แม้แต่ตัวซูจีก็เคยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตัวภายในบ้านพักจากการยืนหยัดต่อสู้กับทหาร และกลายเป็นนักโทษการเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก

โฆษกพรรค NLD กล่าวว่า การจำกัดความว่าใครเป็นนักโทษการเมืองนั้นซับซ้อน ยิ่งไปกว่านั้นนักเคลื่อนไหวบางคนกำลังใช้ข้อแก้ตัวของการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

การรณรงค์ของนักเคลื่อนไหวในชุดน้ำเงิน ทำให้นึกย้อนไปถึงการประท้วงคัดค้านการคุมขังทางการเมืองของวิน ติน ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD และนักข่าว วิน ติน ถูกจำคุกอยู่นาน 19 ปี ก่อนได้รับการปล่อยตัวในปี 2551 และยังคงสวมเสื้อนักโทษจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2557

นักเคลื่อนไหวที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ยังเข้าร่วมการประท้วงทางโซเชียลมีเดีย ที่โพสต์และส่งต่อรูปถ่ายตัวเองสวมเสื้อสีน้ำเงินเพื่อดึงดูดความสนใจต่อคดีการเมืองนี้ ในรูปถ่าย พวกเขาชูมือขวาเพื่อแสดงชื่อของผู้ถูกควบคุมตัวที่เขียนลงบนฝ่ามือ

“เรากำลังฟื้นจิตวิญญาณของอู วิน ติน และนักเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยที่ยืนหยัดต่อหลักการ ต่อต้านความอยุติธรรมและการกดขี่” ผู้จัดการรณรงค์ทางออนไลน์ กล่าว.

กำลังโหลดความคิดเห็น