xs
xsm
sm
md
lg

“ฮุนเซน” ชี้ผู้นำสิงคโปร์สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา ได้กล่าวหานายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ ว่า สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เนื่องจากความเห็นของผู้นำแดนลอดช่องที่กล่าวถึงการบุกกัมพูชาของเวียดนามในปี 1978 ซึ่งยุติระบอบการปกครอง “ทุ่งสังหาร” ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพลพต

ในความเห็นที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจและนำมาซึ่งการตอบสนองอย่างแข็งกร้าวจากเวียดนาม ผู้นำสิงคโปร์ได้กล่าวอ้างถึงการกระทำของเวียดนามที่ขับไล่รัฐบาลเขมรแดงของพลพต และตั้งรัฐบาลใหม่ ว่าเป็น “การบุกรุก” และ “การยึดครอง” คำนิยามที่ทั้งเวียดนามและกัมพูชาต่างคัดค้าน

นายกฯ ลี แสดงความเห็นดังกล่าวในคำไว้อาลัยต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือนที่ผ่านมา

พล.อ.เปรม เป็นผู้นำในช่วงเวลาที่สิงคโปร์ ไทย และชาติสมาชิกต่างๆ ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) คัดค้านการบุกของเวียดนาม และการยึดครองกัมพูชา ผู้นำสิงคโปร์ ระบุ

“พล.อ.เปรม มีความแน่วแน่ที่จะไม่ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ และได้ทำงานร่วมกับอาเซียนในการต่อต้านการยึดครองของเวียดนามในเวทีระดับนานาชาติ” นายกฯ ลี แสดงความเห็นที่โพสต์บนหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง

“สิ่งนี้ทำให้การบุกรุกทางทหารและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไม่ได้รับความชอบธรรม และยังเป็นการคุ้มครองความมั่นคงของชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำหนดทิศทางของภูมิภาค” ผู้นำสิงคโปร์ ระบุ

ในความเห็นที่โพสต์บนเฟซบุ๊กคืนวันพฤหัสฯ ฮุนเซน กล่าวว่า เขาเสียใจอย่างมากต่อคำกล่าวของลี และกล่าวหาว่านายกฯ ลี สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง

“ถ้อยแถลงของเขาสะท้อนจุดยืนของสิงคโปร์ในเวลานั้นที่สนับสนุนรัฐบาลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สิงคโปร์มีส่วนในการสังหารหมู่ชาวเขมร” ฮุนเซน กล่าว

การบุกของเวียดนาม และการยึดครองกัมพูชานาน 10 ปี ได้ยุติการปกครองของพลพต ที่ทำลายกัมพูชานานกว่า 3 ปี ตั้งแต่ปี 1975 จนถึงต้นปี 1979 และนำไปสู่การเสียชีวิตของชาวเขมรเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

ฮุนเซน กล่าวว่า ความเห็นของลีเป็นการดูถูกการเสียสละของทหารเวียดนามที่ช่วยปลดปล่อยกัมพูชา

ด้านกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ระบุว่า ได้ยกประเด็นเกี่ยวกับความเห็นของนายกฯ ลี เซียน ลุง หารือกับสิงคโปร์

“เวียดนามมีความเสียใจที่พบว่าองค์ประกอบของถ้อยแถลงไม่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง ทำให้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเห็นของผู้คน” เล ถิ ทู ห่าง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวในคำแถลง

สถานทูตสิงคโปร์ในกรุงพนมเปญไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอความเห็น ส่วนโฆษกของนายกฯ ลี ไม่ได้แสดงความเห็นเช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น