เอเอฟพี - ตั้งแต่ถุงเท้า รองเท้าผ้าใบ ไปจนถึงเครื่องซักผ้าและนาฬิกาข้อมือ ชาติในภูมิภาคเอเชียต่างกำลังหวังให้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ช่วยกระตุ้นส่งเสริมการผลิตอย่างถาวร เมื่อแบรนด์สินค้าพากันหลบเลี่ยงผลกระทบจากความขัดแย้งด้วยการเลือกสถานที่ที่มีต้นทุนถูกกว่าสำหรับการผลิตสินค้าของพวกเขา
ธุรกิจต่างๆ ได้ขยายกิจการออกจากจีน ที่มักถูกเรียกว่าเป็น “โรงงานของโลก” ไปยังเวียดนาม กัมพูชา อินเดีย และอินโดนีเซียในช่วงหลายปีมานี้ แต่การเปลี่ยนแปลงถูกกระตุ้นให้เกิดเร็วขึ้น เมื่อสองประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกกำลังตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันไปมา
และในความขัดแย้งครั้งล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนเป็น 25% ที่มูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ปักกิ่งตอบโต้ด้วยการกำหนดอัตราภาษีกับสินค้าอเมริกันสูงขึ้นเช่นกันที่มูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์
“และนั่นได้กลายเป็นปัจจัยที่บังคับให้ผู้คนย้ายที่” เทรนท์ เดวีส์ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศของบริษัทที่ปรึกษา Dezan Shira & Associates ในเวียดนาม ระบุ
การย้ายฐานการผลิตจากจีนที่เพิ่มขึ้น หรือแผนการที่จะเพิ่มขนาดการผลิต ส่งผลให้ศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยิ่งแข็งแกร่ง
บริษัทคาสิโอ (Casio) ระบุว่ากำลังย้ายการผลิตนาฬิกาบางรุ่นไปยังไทยและญี่ปุ่น เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน บริษัทริโก้ (Ricoh) ผู้ผลิตเครื่องปริ้นเตอร์สัญชาติญี่ปุ่น ระบุว่า กำลังย้ายการทำงานบางส่วนของบริษัทไปที่ไทย
ส่วนแบรนด์รองเท้ายักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ อย่างสตีฟ แมดเดน (Steve Madden) วางแผนที่จะเพิ่มการผลิตในกัมพูชา บริษัท Brook Running เครื่องซักผ้า Haier ผู้ผลิตถุงเท้า Jasan ที่ขายสินค้าให้กับ Adidas Puma New Balance และ Fila ต่างก็กำลังจับตามองเวียดนาม
เวียดนามถือเป็นการย้ายอย่างมีเหตุผลสำหรับผู้ผลิต ด้วยประโยชน์จากค่าแรงต่ำ แรงจูงใจด้านภาษี และใกล้กับซัพพลายเชนของจีน
“มันไม่ใช่แค่ผลของสงครามการค้า แต่ส่วนใหญ่คือโอกาสในเวียดนาม” เดวีส์ กล่าว
ซัพพลายเออร์เวียดนามบางส่วนกล่าวว่า ความขัดแย้งทางการค้าเป็นสิ่งที่เร่งรัดให้แนวทางเช่นนี้เกิดเร็วขึ้น เนื่องจากหลายบริษัทพยายามที่จะเลี่ยงอัตราภาษีที่ถูกกำหนดขึ้นใหม่ซึ่งอาจกระทบกับการส่งออกสินค้ากว่า 4,000 ประเภท ไปยังสหรัฐฯ
โรงงาน Garco 10 ในกรุงฮานอยกำลังผลิตเสื้อเชิ้ตผู้ชายให้กับแบรนด์อเมริกันไม่ว่าจะเป็น Hollisters Bonobos และ Express โดยบริษัทระบุว่า การส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7% เมื่อปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มเป็น 10%
“ต้องขอบคุณสงครามการค้า..หลายภาคส่วนของเศรษฐกิจเวียดนามได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคสิ่งทอของเรา เราต้องการที่จะเปิดโรงงานเพิ่ม เราต้องการขยายขนาดการผลิตของเรา” ตัน ดึ๊ก เหวียด ผู้อำนวยการบริษัท Garco10 กล่าวจากโรงงานแห่งหนึ่งของเขา ซึ่งกองทัพคนงานกำลังผลิตเสื้อที่มีปลายทางยังห้างและศูนย์การค้าต่างๆ ในสหรัฐฯ
การนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าเกือบ 16,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 40% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลการค้าของสหรัฐฯ และตัวเลขดังกล่าวอาจเพิ่มสูงขึ้น
มากกว่า 40% ของบริษัทสหรัฐฯ ในจีน เวลานี้กำลังพิจารณาเกี่ยวกับการย้ายการผลิตหรือได้ย้ายไปแล้ว โดยส่วนใหญ่มุ่งไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเม็กซิโก ตามการสำรวจของหอการค้าสหรัฐฯในจีน
อย่างไรก็ตาม แม้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแรงงานค่าแรงถูก โดยค่าแรงต่อเดือนอยู่ราว 290 ดอลลาร์ในเวียดนาม และ 180 ดอลลาร์ในกัมพูชาและอินโดนีเซีย เมื่อเทียบกับค่าแรงในจีนที่ประมาณ 540 ดอลลาร์ แต่แรงงานเหล่านี้มีประสบการณ์น้อย
“แม้ค่าแรงในจีนสูงกว่า 3 เท่า แต่ประสิทธิภาพก็ดีกว่า 3 เท่าเช่นกัน” ประธานร่วมคณะกรรมการการผลิตประจำหอการค้าสหรัฐฯ ในเวียดนาม กล่าว นอกจากนั้นตลาดแรงงานยังน้อยกว่าเช่นกัน
เวียดนามมีการจ้างงานราว 10 ล้านคนในภาคการผลิต เทียบกับ 166 ล้านคนในจีน ตามข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ส่วนอินโดนีเซียมีการจ้างงาน 17.5 ล้านคน และกัมพูชา 1.4 ล้านคน
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า บริษัทต่างๆ อาจเผชิญกับปัญหาซัพพลายเชน ความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐาน และปัญหาขาดแคลนที่ดินในตลาดด้อยพัฒนา และนักวิเคราะห์ยังกล่าวว่า หากสงครามการค้ายังไม่ยุติ การย้ายการผลิตออกจากจีนก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป และอาจเป็นการจำกัดความใหม่ของรูปแบบการค้าโลกที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน
“แน่นอนว่ามันจะยุติการครอบงำของจีนในฐานะโรงงานสำหรับสหรัฐฯ” นักวิเคราะห์จากสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเทศอย่างเวียดนามมีแนวโน้มที่จะได้รับอานิสงค์จากความเปลี่ยนแปลงนี้
เล ถิ เฮือง คนงานที่ทำงานในโรงงานของบริษัท Garco 10 กล่าวว่า เธอหวังให้บริษัทได้คำสั่งซื้อมากขึ้น เพื่อให้พวกเธอมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น.